ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ ที่ทำให้เราต่างก็ “เจ็บปวด”
ทุกวันนี้ตาจะปิดอยู่แล้วแต่มือยังสไลด์หน้าจอ และจิ้มดูเรื่องราวของเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กอยู่เลย พฤติกรรมแบบนี้นี่แหละถือเป็นไลฟ์สไตล์ของยุค 4G เต็มขั้น
ตอนแรกเชื่อว่าไม่มีใครคาดคิดว่าตัวเอง จะเสพติดอินเตอร์เน็ตและโลกโซเชียลขนาดนี้ แต่พอรู้ตัวอีกทีก็ติดหนึบจนยากจะถอนตัวเข้าให้แล้ว..
นอกจากตัวเราแล้ว ก็แทบไม่ต้องหันมองหาตัวอย่างที่ไหน ทุกวันนี้พ่อและแม่ใครบ้างที่ก่อนจะนอน เป็นต้องหยิบมือถือและแท็บเล็ตขึ้นมาอัพเดทข่าวสาร และปิดท้ายด้วยการส่งสติกเกอร์ไลน์กู๊ดไนท์ ให้ลูกๆ บ้าง ถ้าคุณและครอบครัวมีกิจกรรมเช่นนี้ แน่นอนว่าเราต่างหนีไม่พ้น “ความเจ็บปวด” อย่างแน่นอน !
หลายคนอาจตกใจว่าเหตุใดเราถึง ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดจากพฤติกรรมข้างต้น หากไม่นับรวมผลเสียต่อสายตาที่ต้องจ้องมองหน้าจอนานๆ เช่น ปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า สายตาสั้น อันเป็นสาเหตุนำไปสู่ “โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม" (Computer Vision Syndrome) หรือ "โรคซีวีเอส" เกิดขึ้นกับคนที่ทำงานอยู่หน้าจอติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 2-3 ชั่วโมง ขึ้นไป
ไม่เท่านั้น การจดจ่ออยู่กับหน้าจอยังทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย เนื่องจากร่างกายมีการเคลื่อนไหวน้อย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ อาทิ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ เรียกติดปากว่า “โรคออฟฟิศซินโดรม” (Office syndrome)
ด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน ที่หลีกเลี่ยงการใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ยาก ช่วงหลังเราจึงมักเห็นบุคลากรวงการแพทย์และสาธารณสุข หันมารณรงค์แจ้งเตือนและให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่เสพติดอุปกรณ์สื่อสาร และผู้ที่ต้องทำงานกับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง
ถึงตรงนี้แค่ 2 โรคและหลากหลายอาการที่หยิบยกขึ้นมาบอกเล่า อาจทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น จากการเสพติดโลกออนไลน์เกินความพอดี แต่สำหรับใครที่คิดว่าการเจ็บปวดที่ไล่เลียงมานั้นน่ากลัวแล้ว ต้องบอกเลยว่ายังมีอีกหนึ่งอาการที่ไม่ควรมองข้ามนั่นก็คือ “อาการละเมอแชท” (Sleep Texting) เรียกแบบนี้หลายคนอาจไม่คุ้นหูนัก แต่ต้นเหตุของอาการเกิดจากการเสพติดโซเชียลเน็ตเวิร์กโดยตรง
ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาแจ้งเตือนโดย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต คุณหมออธิบายว่าสาเหตุหลักเกิดจากการติดสมาร์ทโฟน รวมไปถึงอาการติดโซเชียลเน็ตเวิร์กทุกชนิด ทำให้มุ่งความสนใจไปที่เครื่องมือสื่อสารแทบจะทุกนาที จนกลายเป็นความวิตกกังวลต่อข้อความที่ถูกส่งมา แม้กระทั่งเวลาจะหลับก็ยังเอามือถือไปจิ้มเล่นเรื่อยเปื่อย และหลับไปพร้อมกับโทรศัพท์ที่ยังคามือ หรือวางนิ่งอยู่ข้างตัว
เมื่อมีเสียงแจ้งเตือนข้อความเข้ามา สมองที่ยังยึดติดกับโทรศัพท์อยู่ทุกขณะจิต จะปลุกร่างกายที่หลับใหลให้อยู่ในสภาวะละเมอ แล้วกดส่งข้อความไปโดยอัตโนมัติ และในช่วงนี้ร่างกายก็จะนอนหลับไม่สนิทเต็มที่ เป็นเหตุให้พักผ่อนไม่พอ กระทบถึงระบบการทำงานของร่างกาย สะสมเป็นความเครียด เสี่ยงเป็นโรคอ้วน ฝันร้าย รวมทั้งกระทบต่อการเรียน และการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“การติดแชทมากเกินไปอาจส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ได้ เนื่องจากข้อความที่ส่งผ่านกันไปมา ไม่สามารถนำเอาความรู้สึกนึกคิดในขณะที่พิมพ์ของเราแนบไปด้วยได้ บางทีก็อาจจะก่อให้เกิดการเข้าใจผิดกันได้ ทำลายความรู้สึกโดยไม่เจตนาด้วย”
อย่างที่หลายคนออกตัวว่าตอนแรกคิดว่าแค่เล่นมือถือขำๆ แต่พอนานเข้าความเคยชินแปรเปลี่ยนเป็นอาการเสพติด รู้ตัวอีกที รู้ใจอีกที ตอนนี้ชักจะไม่ขำเสียแล้ว แต่พอจะหักห้ามใจกลับทำไม่ได้.. เพราะแบบนี้ไงถึงทำให้เราต่่างก็ “เจ็บปวด” อยู่ทุกวัน !!!