ถอดบทเรียน#3 ขบวนการตากอากาศ

ถอดบทเรียน#3 ขบวนการตากอากาศ

ถอดบทเรียน#3 ขบวนการตากอากาศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook



     พบกับรายการ “ขบวนการตากอากาศ” พร้อมความน่ารักสดใสของเด็กๆ และเรื่องราวหรรษาตามประสาครอบครัว โดยสอดแทรก เคล็ดลับการเลี้ยงลูก ผ่านเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของครอบครัวต่างๆ ทั้งตอนอยู่ในบ้าน และตอนออกไปท่องโลกกว้างรอบตัว ถือเป็น บทเรียนจากชีวิตจริง ที่นำมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย หรือถ้าใครตั้งใจดูเพื่อความบันเทิงล้วนๆ ก็ไม่ว่ากัน แค่ได้ซึมซับ พลังบวกจากความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ของเด็กๆตัวน้อย และความรักความอบอุ่นของแต่ละครอบครัว ที่ทำให้เรายังมีความหวังกับโลกใบนี้ เท่านี้ก็ยิ้มได้กว้างๆแล้วเนอะ!

     สำหรับสัปดาห์นี้ ขบวนการตากอากาศ ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวอีก 2 ครอบครัว 2 สไตล์

     เริ่มจากครอบครัวแรกของสี่พี่น้องวัยซนนำทีมโดย น้องไมร่า น้องซุเบรุ น้องฮัมซะ และ น้องมีน่า



     กับอีกครอบครัวของสองพี่น้องชายหญิง น้องอุ๋ยและน้องเอ๋ย



     ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการเลี้ยงดูก็ย่อมมีมุมที่ต่างไปจากครอบครัวของน้องอิ๊คและน้องจีโน่ซึ่งเป็นลูกคนเดียวอย่างแน่นอน ใครยังคิดถึง หรืออยากรู้จักน้องอิ๊คและน้องจีโน่ พระเอกสองคนแรกของเราอยู่ ชมรายการย้อนหลัง ได้ที่
     ถอดบทเรียน#1 ขบวนการตากอากาศ https://youtu.be/_mWriDCMI7U
     ถอดบทเรียน#2 ขบวนการตากอากาศ https://youtu.be/oSvXGfisOjY

     ทีมเวิร์คดีมีชัยไปกว่าครึ่ง



     เริ่มต้นที่ ครอบครัวน้องไมร่าแอนด์เดอะแก๊ง จะเห็นได้ว่าบ้านนี้อบอวลไปด้วยความอบอุ่นสไตล์ ครอบครัวขยาย-หลายเจเนอเรชั่น อันมีสมาชิกได้แก่ คุณพ่อ คุณแม่ คุณยาย และลูกหลานวัยซนถึง 4 คน การแบ่งหน้าที่ของทีมนี้คือ คุณพ่อออกไปทำงาน ส่วนคุณแม่เป็นฝ่ายดูแลลูกๆ และพิเศษคือได้คุณยายมาเสริมทัพคอยช่วย ทำให้ภาระไม่ตกหนักอยู่ที่คุณแม่คนเดียว เพราะการเลี้ยงเด็กหลายคนพี่น้อง (และดูแลบ้านไปด้วย) เป็นงานที่เหนื่อยแบบนอนสต็อป เหมือนต้องเข้ากะทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน! ฉะนั้น ควรมี ทีมเวิร์คที่ดี คอยสนับสนุนช่วยเหลือแบ่งเบางานในบ้านไม่ให้ตกหนักอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง เพราะเรื่องนี้อาจจะส่งผลไปถึงเด็กๆด้วยนะเออ ถ้าคนที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กมีความสุข เด็กก็มีแนวโน้มที่จะมีความสุขตามไปด้วย เข้าใจตรงกันนะจ๊ะทุกคน!

     ชุมชนเข้มแข็ง…แหล่งเรียนรู้ใกล้ตัว



     การได้อยู่ในชุมชนที่แวดล้อมด้วยเพื่อนบ้านที่สนิทสนมรักใคร่กันดี ถือเป็นความโชคดีเสมือนถูกรางวัลลอตเตอรี่เลยก็ว่าได้! ครอบครัวน้องไมร่ามักจะพาเด็กๆ ออกไปเดินเล่นในชุมชนแถวบ้าน ได้วิ่งเล่นปล่อยพลัง ได้พบปะทักทายเพื่อนบ้าน (ตั้งแต่คนไปจนถึงแพะ) นี่เป็นเวลาคุณภาพที่ทำได้ง่ายมากๆ แต่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กได้มากมาย ได้เสริมสร้างพื้นฐานการปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่น ฝึกมารยาทการเข้าสังคม ฝึกการควบคุมอารมณ์ ได้เรียนรู้ว่าโลกกว้างใบนี้ไม่ได้มีแค่ตัวเขากับครอบครัวเป็นศูนย์กลางของจักรวาลเท่านั้น และที่สำคัญคือ ได้ใช้เวลาแสนสุขอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ นั่นเอง



     นอกจากนี้ เรายังชอบที่ได้เห็นเด็กๆ บ้านนี้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การช่วยซื้อกับข้าวที่ตลาด (ได้ฝึกบวกลบเลขง่ายๆ ได้รู้จักสังเกตสิ่งรอบตัว ฝึกทักษะการเอาตัวรอด) การช่วยคุณยายทำกับข้าว และช่วยชิม! (ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก เรียนรู้เรื่องการชั่งตวงวัด และวัตถุดิบต่างๆ ฝึกสมาธิ รู้จักอดทนรอคอยกว่าจะได้เป็นอาหารแต่ละมื้อ) รวมถึง การพบปะสังสรรค์กับครอบครัวเครือญาติในชุมชนมุสลิม (ปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อชุมชนและวัฒนธรรมของตนเอง สร้างความผูกพันในครอบครัวเครือญาติ ได้ฝึกการเข้าสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างรุ่นต่างวัย) กิจกรรมที่ดูเหมือนธรรมดาเช่นนี้ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กทั้งร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา ครบถ้วนทั้ง IQ และ EQ ได้ดีกว่าส่งไปโรงเรียนกวดวิชาเสียอีก!

     แต่เดี๋ยวก่อน! สำหรับลูกหลานวัยเด็กเล็กจนถึงเล็กมากๆ พ่อแม่ผู้ปกครองควรจะดูแลใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตาเพื่อระวังเรื่องความปลอดภัย เช่น ไม่ปล่อยให้วิ่งเล่นนอกบ้านตามลำพัง เพราะอาจเกิดอันตรายจากรถราบนท้องถนน จากมิจฉาชีพ หรืออาจตกน้ำตกท่าได้ และไม่ควรปล่อยให้ใช้ของมีคม หรือใช้เตาไฟโดยไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย สรุปง่ายๆคือ ไม่ห้ามไปเสียทุกอย่าง แต่ใช้วิธีสร้างกรอบกติกากำหนดขอบเขตร่วมกัน นอกจากส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกแล้วยังเป็นการส่งเสริมวินัยเชิงบวกให้ติดเป็นนิสัยด้วย

     หนังสือนิทาน…อ่านที่บ้านก็ได้…อ่านนอกบ้านก็ดี



     ตัดกลับมาที่ บ้านน้องอุ๋ยและน้องเอ๋ย สองหนุ่มสาวพี่น้องกับคุณแม่สุดน่ารัก บ้านนี้มีคุณแม่เป็นแม่บ้านเต็มเวลาคอยดูแลลูกๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งคุณแม่ก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมอะไรเบอร์นี้ มักชวนคุณลูกทำกิจกรรมสนุกๆ ที่ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้อยู่เป็นประจำ วันนี้ คุณแม่พาเด็กๆมาลุยกันที่อุทยานแมลงเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีโดมแมลงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นสถานที่ที่เหมาะสมกับวัยเด็กเล็กอย่างน้องอุ๋ยและน้องเอ๋ยยิ่งนัก เพราะเด็กๆกับแมลงตัวนั้นตัวนี้มักจะเป็นของคู่กัน

     ความน่ารักน่าเลียนแบบมันอยู่ตรงที่ คุณแม่พกหนังสือนิทานไปอ่านให้น้องอุ๋ยน้องเอ๋ยฟังที่พิพิธภัณฑ์แมลงด้วย โดยเลือกนิทานเกี่ยวกับ แมงมุม ผีเสื้อ ซึ่งเข้ากับเรื่องราวของสถานที่เลย ทำให้ลูกได้เชื่อมโยงต่อยอดเรื่องราวจากสิ่งที่เจอของจริงกับสิ่งที่อ่านจากในหนังสือ ส่งเสริมทั้งจินตนาการและประสบการณ์ให้เติบโตไปคู่กันอย่างลงตัว

     เห็นอย่างนี้แล้ว ไปเที่ยวคราวหน้าอย่าลืมใช้เทคนิค พกนิทานให้เข้ากับสถานที่เที่ยว ไปใช้กันนะคุณพ่อคุณแม่ โดยอาจจะเล่าให้ลูกฟังตั้งแต่ที่บ้านก่อน เป็นการเตรียมข้อมูลเบื้องต้นก่อนเจอของจริง รับรองว่าพอเที่ยวเสร็จกลับบ้านไป คุณลูกจะต้องรู้สึกพิเศษกับนิทานเล่มเดิมเล่มนี้ขึ้นอีกสิบเท่า

     พี่กับน้อง…ความสัมพันธ์สุดพิเศษ

     การมีพี่น้องเป็นทั้ง ของขวัญสุดพิเศษ และ บทเรียนแสนท้าทาย ของทุกครอบครัว ความสัมพันธ์ของพี่น้องทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การปรับตัวเข้ากับผู้อื่นโดยเริ่มตั้งแต่สังคมหน่วยย่อยที่สุดภายในบ้านของเขานี่เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแบ่งปัน มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อดทนรอคอย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมไปถึงการต่อสู้แย่งชิง เอ๊ย…ไม่ใช่! การจัดการกับปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเป็นปัญหาสามัญของทุกบ้านที่มีพี่น้องเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะวัยเด็กเล็กที่ยังควบคุมจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ไม่เก่ง



     ปกติเวลาเด็กๆทะเลาะกัน มักจะมีสาเหตุจากการแย่งอะไรกันสักอย่าง (ตั้งแต่แย่งของเล่น แย่งกันกดลิฟท์ แย่งกันเป็นคนแรกของทุกสิ่ง ไปจนถึงแย่งได้นอนกอดแม่ หรือแย่งนั่งตักพ่อ) หรือไม่ก็การแกล้งกันด้วยความคึกคะนองตามประสาเด็ก สิ่งที่พ่อแม่ ไม่ควรทำ คือ การเข้าไปยุติปัญหาอย่างรวดเร็ว เช่น สั่งให้อดเล่นทุกคน ทำโทษ หรือด่วนตัดสินว่าใครผิดใครถูกด้วยความคิดเหมารวม เช่น เป็นพี่ทำไมไม่เสียสละให้น้อง เพราะสิ่งที่ควรระวังอย่างมากคือการทำให้เด็กๆ รู้สึกคาใจกับคำตัดสิน จนเกิดความหงุดหงิดเก็บกดไว้ ซึ่งอาจลามไปถึงความน้อยใจ และเกิดทัศนคติเชิงลบกับพี่น้องของตัวเองได้

     สิ่งที่พ่อแม่ ควรทำ คือ นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว คอยชำเลืองเมียงมองอยู่ใกล้ๆ โดยปล่อยให้พี่น้องได้ลองจัดการกับปัญหากันเอง (และคอยระวังไม่ให้การตีกันมันเลยเถิดเป็นความรุนแรง) เชื่อไหมว่า เผลอแป๊บเดียวเด็กๆ ที่เพิ่งจะตีกันไปเมื่อห้านาทีที่แล้ว อาจจะหันมาหัวเราะกันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ได้ การที่พ่อแม่เข้าไปจัดการจบปัญหาด้วยการดุว่าหรือหงุดหงิดใส่จะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกว่า การทะเลาะกันของเขามันเป็นเรื่องใหญ่โตมาก เขาจะไม่ได้เรียนรู้อะไรจากปัญหาของเขาด้วยตัวเองเลย เพราะมัวแต่กลัวพ่อแม่ดุ และถามว่ามันทำให้ลูกหายทะเลาะกันมั้ย? คำตอบคือ ไม่!!! ลูกอาจหงุดหงิดง่ายขึ้นอีกด้วยซ้ำ ทะเลาะกันมากขึ้นไปอีก กลายเป็นวงจรหงุดหงิดทะเลาะกันที่หมุนเวียนไปไม่จบ!

     ควบคู่ไปกับการเป็นกรรมการที่นิ่งสงบไม่เข้าไปยุ่งเร็วเกินไป คือการปลูกฝังให้เด็กๆ เกิดความรักความสามัคคี อยู่ร่วมกันด้วยดี ผ่านการสร้างกฎกติกาภายในครอบครัว เช่น เราจะไม่แย่งของกัน เราจะเข้าคิว รู้จักรอคอย ไม่ทำร้ายร่างกายกัน คุยกันด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาฝึกฝน เรียนรู้ ไม่ได้เกิดได้ในวันเดียว และพ่อแม่ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย เป็นสิ่งเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ที่เริ่มจากภายในบ้านของเรานี่เอง เพื่อวันหนึ่งข้างหน้าเขาจะออกไปเผชิญโลกกว้างด้วยตัวเองโดยไม่สร้างปัญหาและเคารพกติกาของสังคม

     และนี่ก็เป็นแง่คิดสำหรับการเลี้ยงลูกที่เรานำมาฝากกันในสัปดาห์นี้ พบกับความสนุกกลมกล่อมผสมสาระดีๆ กันได้อีกในสัปดาห์หน้า จะมีเรื่องราวสนุกสนานและแง่คิดในการเลี้ยงลูกแบบไหน โปรดติดตามตอนต่อไป กับรายการ “ขบวนการตากอากาศ” ทุกวันเสาร์เวลา 8.15-8.45 น. ทางช่อง 28 (3SD)




 


[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook