จริงหรือไม่? ควันรถยนต์ เสี่ยงมะเร็งปอด-กระเพาะปัสสาวะ
กรุงเทพมหานครเป็นแชมป์ในเรื่องของ “รถติด” มานานนับหลายปี สิ่งที่ตามมากับปัญหารถติดยังตามมาอีกเป็นพรวน ไม่ว่าจะมลพิษทางเสียงที่มาจากเสียงเครื่องยนต์ เสียงแตร เสียงบิดมอเตอร์ไซค์ หรืออาจจะเสียงทะเลาะเบาะแว้งของคนขับที่ใจร้อน และไม่รักษาระเบียบวินัยในการขับขี่
แต่ที่แย่ที่สุดก็เห็นจะเป็นมลพิษทางควันที่ออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์นี่แหละ เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กไม่ให้หายใจเอาควันเหล่านี้เข้าปอด เพราะมันไม่ดีต่อร่างกาย แต่ไม่ดีถึงขั้น “ก่อมะเร็ง” ได้เลยหรือไม่ ไปหาคำตอบกันค่ะ
ควันรถยนต์ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ประกอบไปด้วย คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดนคาร์บอน ไนตริคออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ อัลดิไฮด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และยังมีเขม่าควันที่ออกมาพร้อมกัน ประกอบไปด้วย ผงคาร์บอน สารประกอบของตะกั่ว สารจำพวกฟินอลส์ น้ำมันรถยนต์ สารอินทรีจำพวกไนโตร ยางเหนียว ซึ่งประกอบด้วยโปลี่ซายคลิก อโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน และอื่นๆ อีกมากมาย
สารประกอบของควันรถยนต์ ที่ทำให้เกิดมะเร็ง
มีสารประกอบในควัน และเขม่ารถยนต์ ทั้งจากน้ำมันดีเซล และเบนซิลหลายตัว ที่มีงานวิจัยพบว่าเป็นสารก่อมะเร็งจริงๆ เช่น ไพเรนซ์ 1,2 เบนโซไพริน 3,4 เบนโซไพริน ฟลูออแรนทีน ไดแบนแซนทราซีน เป็นต้น
เมื่อสูดเอาสารเหล่านี้เข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายมากๆ จึงอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้ ทั้งมะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ควันรถยนต์ที่ไม่มีสี อันตรายหรือไม่?
ปกติแล้วเราจะคิดว่าควันที่อันตราย ต้องเป็นควันรถที่มีสีดำ หรือเทาเข้มเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วควันรถที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นกัน เพราะนั่นอาจไม่ถึงก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่เกิดจากเครื่องยนต์สันดาปไม่สมบูรณ์ บวกกับการไม่ดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพปกติตลอดเวลา อุปกรณ์ขจัดมลพิษในท่อไอเสียอาจทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศผ่านท่อไอเสียเป็นจำนวนมาก
คาร์บอนมอนอกไซด์ สามารถเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายได้โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว เพราะเป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่หากเราได้รับก๊าซชนิดนี้เข้าไปมากๆ อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย สมองขาดออกซิเจน จนอาจทำให้เสียชีวิตได้
วิธีลดโอกาสการได้รับอันตรายจากสารก่อมะเร็งในควันรถ ทำได้ง่ายๆ เพียงหลีกเลี่ยงการทำงาน หรืออยู่ในบริเวณที่มีควันรถยนต์เยอะๆ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่จำเป็นต้องเข้าไปในบริเวณดังกล่าว และตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ เพื่อลดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันเครื่อง