น้ำผึ้งเป็นเหตุ! เด็ก 6 เดือน เสียชีวิตด้วยโรคโบทูลิซึม
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเด็กชายวัย 6 เดือน ที่อาศัยอยู่ในเขตอาดาจิ ณ เมืองหลวงโตเกียว จากการตรวจสอบพบว่า เด็กชายได้เสียชีวิตลงเนื่องจากการดื่มน้ำผลไม้ผสมน้ำผึ้งที่มีเชื้อ Clostridium botulinum ซึ่งทางคนในครอบครัวให้เด็กดื่มเพื่อหย่านม ทางการ ฯ ได้แจ้งเตือนสำหรับผู้ที่มีบุตรอายุน้อยกว่า 1 ปี ควรหลีกเลี่ยงการให้เด็กรับประทานน้ำผึ้ง
เรื่องราวเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เด็กชายวัย 6 เดือน ได้เริ่มมีอาการไอ และต่อมา วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ได้มีอาการแย่ลง พบอาการชัก ระบบหายใจล้มเหลว จึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา
จากการตรวจสอบ พบว่าตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา คนในครอบครัวของเด็กชายได้ซื้อน้ำผึ้งมาผสมกับน้ำผลไม้ให้เด็กชายดื่มทุก ๆ วัน วันละประมาณ 2 ครั้ง โดยหวังจะให้เด็กหย่านม และคิดว่าน้ำผึ้งดีต่อสุขภาพ ซึ่งเมื่อทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้ว ก็พบเชื้อ Clostridium botulinum จากอุจจาระของเด็กชาย และน้ำผึ้งที่เก็บไว้อยู่ภายในบ้านของเด็กชายดังกล่าว
และเมื่อวันที่ 7 เมษายน เด็กชายวัย 6 เดือนผู้โชคร้าย ก็ได้ถูกวินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิต ว่าเกิดจาก “โรคโบทูลิซึมในทารก (Infant botulism)” โรคนี้เกิดจากการเจริญของเชื้อ Clostridium botulinum และสร้างสารพิษโบทูลิซึมในทางเดินอาหารของทารก ซึ่งทางเดินอาหารของทารกมีปัจจัยสำคัญ ที่เหมาะสมในการเจริญของเชื้อ ได้แก่ การพัฒนาการเคลื่อนไหวยังไม่ดีและความเป็นกรดต่ำ โดยอาการที่พบในเด็กทารก จะเริ่มด้วยท้องผูก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ดูดกลืนลำบาก ร้องไห้เสียงเบา และคออ่อนพับ โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการให้อาหารที่อาจปนเปื้อนเชื้อ Clostridium botulinum เช่น น้ำผึ้ง ในเด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 1 ปี
นับตั้งแต่ปี 1986 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มทำสถิติเป็นต้นมา พบว่ามีการรายงานผู้ป่วยโรคโบทูลิซึมในทารกทั่วประเทศเพียง 36 ราย รวมกรณีเสียชีวิตในครั้งนี้ด้วย ซึ่งกรณีเด็กชายนี้ เป็นการเสียชีวิตจากโรคโบทูลิซึมในทารก ครั้งแรกของประเทศญี่ปุ่น
สำหรับโรคโบทูลิซึมในทารกนี้ จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กทารกเท่านั้น และสัดส่วนความเป็นไปได้ที่จะพบเชื้อชนิดนี้ภายในน้ำผึ้งตามท้องตลาดนั้นก็มีเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก
ถ้าพูดถึงโรคโบทูลิซึมในทารก คนไทยเราอาจไม่คุ้นเคยนัก แต่จริง ๆ แล้ว เชื้อนี้เป็นชนิดเดียวกับที่เคยมีรายงานการระบาดเป็นครั้งแรกที่จังหวัดน่านในปีพ.ศ.2541 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการรับประทานหน่อไม้อัดปี๊บที่ไม่ได้ต้ม และมีการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อชนิดนี้นั่นเอง (สามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อ Clostridium botulinum ได้ ที่นี่ และ ที่นี่)