เตือนประชาชน กิน"เห็ดป่า" เสี่ยงอันตรายจากเห็ดพิษ

เตือนประชาชน กิน"เห็ดป่า" เสี่ยงอันตรายจากเห็ดพิษ

เตือนประชาชน กิน"เห็ดป่า" เสี่ยงอันตรายจากเห็ดพิษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ (25 มิถุนายน 2558) นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงปลายเดือนกันยายนของทุกปี จะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นประจำ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนนิยมเก็บเห็ดป่าในธรรมชาติมากิน แต่เนื่องจากเห็ดป่านั้นมีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด จึงขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและ อสม. เร่งให้ความรู้กับประชาชน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการเก็บเห็ดกินเอง ซึ่งจากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-19 มิถุนายน 2558 พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษแล้ว 170 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด เรียงตามลําดับ คือ 35-44 ปี พบร้อยละ 19.41 รองลงมาคือ 45-54 ปี ร้อยละ 17.65 และ 25-34 ปี ร้อยละ 13.53 และอาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ร้อยละ 42.9 รับจ้างร้อยละ 25.9 และนักเรียนร้อยละ 12.4

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า เห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่า เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก เห็ดชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มเห็ดที่มีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือไข่ห่านที่สามารถกินได้ แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ เห็ดระโงกพิษ จะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและค่อนข้างแรง สำหรับช่วงที่เสี่ยงอันตรายที่สุดคือ ช่วงเห็ดยังดอกตูม เพราะเห็ดสกุลนี้ขณะดอกอ่อนจะมีลักษณะเหมือนกันหมด แยกได้ยากจากเห็ดที่กินได้ และเห็ดพิษชนิดนี้มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกดีแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้ ส่วนภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด ช้อนจะไม่เปลี่ยนเป็นสีดํา การนําไปต้มกับข้าวสาร หรือการสังเกตรอยกัดแทะของสัตว์ วิธีดังกล่าวก็ยังไม่สามารถเชื่อถือ และนำมาใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ นอกจากเห็ดระโงกพิษแล้ว ยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงอีกคือ เห็ดเมือกไครเหลือง ซึ่งมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า แต่ยากแก่การสังเกตด้วยตา ส่วนเห็ดชนิดสุดท้าย คือ เห็ดหมวกจีน จะเป็นเห็ดที่คล้ายกับเห็ดโคนขนาดเล็กของบ้านเรา

หลังจากกินเห็ดพิษแล้ว จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน จะต้องรีบไปพบแพทย์ แจ้งประวัติการกินเห็ด ทั้งชนิดและปริมาณโดยละเอียด พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษ(หากยังเหลืออยู่) และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ นัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ใน 24 ชั่วโมงแรก แต่หลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษ เบื้องต้นให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด โดยการล้วงคอ หรือกรอกไข่ขาว จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

“ในโอกาสนี้ขอแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อน ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรี คล้ายไข่ มารับประทาน เนื่องจากจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่มีพิษ เพราะลักษณะดอกตูมภายนอกจะเหมือนกัน รวมถึงหลีกเลี่ยงการกินเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าวปิดท้าย


*******************************************************

สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค

โทรศัพท์ 0-2590-3857 / โทรสาร 0-2590-3386 วันที่ 25 มิถุนายน 2558


แหล่งข่าวโดย » กรมควบคุมโรค


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook