"ติดยา ป่วยจิต" รักษาได้ รีบเข้าให้ถึงบริการ

"ติดยา ป่วยจิต" รักษาได้ รีบเข้าให้ถึงบริการ

"ติดยา ป่วยจิต" รักษาได้ รีบเข้าให้ถึงบริการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การติดสารเสพติดเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่เกิดขึ้นทีละน้อย จากการใช้ยาเป็นครั้งคราวสู่การใช้ถี่ขึ้น จนใช้ทุกวัน วันละหลายครั้ง ซึ่งเมื่อใช้บ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่ภาวะ "สมองติดยา" โดยสารในตัวยาจะเข้าไปทำลายสมองส่วนคิด ทำให้การใช้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเสียไป ทำให้สมองส่วนอยาก ซึ่งมีการนำเข้าสารเสพติดสู่สมองส่วนนี้ จนเข้ามามีอิทธิพลเหนือสมองส่วนคิด โดยเฉพาะช่วงอยากสารเสพติด ทำให้ผู้เสพติดทำอะไรตามใจตามอารมณ์มากกว่าเหตุผล ผู้ที่ใช้สารเสพติดจึงมักแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา เช่น อารมณ์ก้าวร้าว หงุดหงิด ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ขาดความยับยั้งชั่งใจ นำไปสู่ความรุนแรงในสังคมที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ ทั้ง การปล้น ลักขโมย ทำร้ายคนใกล้ชิด ก่อเรื่องที่ผิดศีลธรรมผิดกฎหมาย ฯลฯ บางรายเกิดอาการทางจิตจนกลายเป็นผู้ป่วยสารเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งนอกจากสมองส่วนอยากที่ผิดปกติแล้ว สมองส่วนคิดก็ถูกทำลายเรื้อรังจนเสื่อมถาวรได้

ปัญหาสารเสพติดจึงสำคัญมากถือเป็นวาระแห่งชาติ ต้องได้รับการติดตามแก้ไขอย่างจริงจัง ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ เช่น การให้ความรู้ เข้าใจและตระหนักในการเฝ้าระวังอาการเสพติดและอาการทางจิตเวช การส่งเสริมให้เยาวชนและครอบครัวมีการฝึกวินัยตั้งแต่เรื่องกินอยู่ การนอน การเล่น รู้จักการจัดการอารมณ์โกรธ ฝึกทักษะรู้จักการแก้ปัญหา การปฏิเสธ และมีพื้นที่สร้างสรรค์ในการใช้เวลาว่างอย่างมีประโยชน์ เช่น สถานที่ออกกำลัง สถานที่ให้คำปรึกษา และกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ระดับทุติยภูมิ ในการดูแลเบื้องต้นและส่งต่อผู้เสพติดที่มีอาการทางจิตร่วมด้วย ซึ่งต้องได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 หากบุคคลดังกล่าวไม่ยินยอมสามารถใช้มาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา คือ 1) บุคคลนั้นมีภาวะเป็นอันตราย 2) มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา เพื่อนำบุคคลดังกล่าวไว้ในสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาเพื่อผลดีต่อตัวของเขาเอง ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันความปลอดภัยให้กับสังคมอีกด้วย และระดับตติยภูมิ ในการดูแลบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสารเสพติด ทั้งอาการเสพติดและอาการทางจิตเวช มิให้ป่วยซ้ำจนสามารถช่วยเหลือตัวเองตามศักยภาพ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย ผู้ที่มีความรู้ ความใส่ใจช่วยเหลือทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และสามารถบูรณาการองค์ความรู้และทักษะ เน้นการมีส่วนร่วมจากบุคลากร สหวิชาชีพ ทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข เช่น ครู ตำรวจ องค์กรการปกครองท้องถิ่น พัฒนาสังคม ทหาร เป็นต้น

ด้าน พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล นายแพทย์เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 และหัวหน้าศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า ในผู้ที่เสพหรือติดสารเสพติดพบโรคทางจิตเวชร่วม ถึงร้อยละ 53.1 จากปัญหาดังกล่าว พบว่า ผู้ป่วยจิตเภทซึ่งมีปัญหาการใช้สารเสพติดร่วมมีอัตราที่สูงขึ้น โดยพบในอัตราที่สูงถึงประมาณ ร้อยละ 50 และสิ่งเสพติดที่ใช้มากที่สุด คือ สุราและแอมเฟตามีน ทั้งนี้ สารเสพติดที่ก่อให้เกิดอาการทางจิตมีหลายชนิด

ได้แก่ ยาบ้า ยาไอซ์ กัญชา ที่มีแนวโน้มแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงาน ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายและจิตรุนแรง ซึ่งสารเสพติดกลุ่มกระตุ้นและหลอนประสาทเหล่านี้ มักพบอาการทางจิตได้บ่อย เช่น อาการหวาดระแวง กลัวคนจะมาทำร้าย หูแว่ว ประสาทหลอน คลุ้มคลั่ง ขาดสติ มีแนวโน้มก่อความรุนแรงทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น และยังพบสารเสพติดที่กำลังแพร่ระบาดในเยาวชนไทยปัจจุบัน ได้แก่ น้ำต้มใบกระท่อม ( 4x100) ยาแก้ไอ ยาแก้ปวด ยานอนหลับ และเครื่องดื่มชูกำลัง อีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลการบำบัด รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดสารเสพติด ของหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต ปี 2557 พบว่า มีผู้ติดสารเสพติดเข้าบำบัด รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ จำนวน 3,941 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ซึ่งมีจำนวน 3,849 ราย หรือเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 300 ราย/เดือน ทั้งนี้ 2 ใน 3 ป่วยถึงขั้นสมองติดยา

โรคสมองติดยานั้น เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดจากสารเคมีที่ไม่สมดุลและความเสื่อมของสมอง ทำให้การกำกับอารมณ์ พฤติกรรม และความคิด ไม่เหมาะสม ผลกระทบมีทั้งแบบเฉียบพลัน ในกรณีเริ่มใช้ และแบบเรื้อรังในกรณีเสพปริมาณมากหรือเสพมานาน ความเจ็บป่วยทางร่างกายที่มักพบร่วมด้วย เช่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โรคผิวหนัง ปัญหาสุขภาพช่องปาก เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาในการบำบัดฟื้นฟูไม่น้อยกว่า 1ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณสารเสพติด ปัญหาทางจิตเวชเดิม และปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เสพซ้ำ ดังนั้น การรักษาจึงมีความจำเป็นในการใช้ยาจิตเวชเพื่อบรรเทาอาการควบคู่กับการบำบัดด้านจิตสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยมีแรงจูงใจในการลด ละ เลิก และมั่นใจในการรับการบำบัด นอกจากนี้ ความร่วมมือจากครอบครัว ความเข้าใจที่ถูกต้องของครู ญาติและสังคมเพื่อการให้โอกาสและกำลังใจเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของการบำบัด แพทย์หญิงบุญศิริ กล่าว


แหล่งข่าวโดย » กรมสุขภาพจิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook