ข้อเข่าเสื่อม กับสัญญาณอันตรายที่คุณอาจไม่รู้ตัว
หากพูดถึงโรคที่เกี่ยวข้อเข่า หลายคนคงจะนึกถึงผู้เฒ่าผู้แก่ที่เดินไปก็ร้องโอดโอยเพราะเจ็บเข่าไป แต่อันที่จริงแล้วไม่ได้มีเพียงแค่วัยชราเท่านั้นที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม วัยทำงานเองก็มีความเสี่ยงไม่น้อยเช่นเดียวกัน แต่คุณอาจเป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัว
Sanook! Health จึงถือโอกาสแนะนำสัญญาณอันตรายของโรคข้อเข่าเสื่อมในวัยทำงาน มาให้เพื่อนๆ ได้ลองเช็คสุขภาพข้อเข่าของตัวเองกันค่ะ
ข้อเข่าเสื่อม เกิดจากอะไร?
ข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการที่กระดูกอ่อนที่คลุมอยู่บริเวณปลายข้อต่อหัวเข่าบางลงหรือผุลง จนปลายกระดูกเริ่มเข้าใกล้และเสียดสีกัน ทำให้เกิดอาการเจ็บเวลาเดินหรืองอเข่า จนเริ่มเดินขาโก่งโดยไม่รู้ตัว และในที่สุดก็กลายเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
ใครที่มีความเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อม
- ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้หญิง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย เพราะความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน้อยกว่า
- น้ำหนักตัวที่สูงขึ้น เกิดจากพฤติกรรมการกินที่มากเกินไป และขาดการออกกำลังกาย
- การสวมรองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน
istockphoto
สัญญาณอันตรายของโรคข้อเข่าเสื่อม
- มีอาการเจ็บข้อเข่าเมื่อมีการเดิน หรือยืน เป็นเวลาติดต่อกันนาน 2-4 อาทิตย์
- เจ็บหัวเข่าเมื่อเดินขึ้นลงบันได
- ในระยะหลังๆ อาจมีอาการเจ็บแม้กระทั่งเดินธรรมดาปกติ
- เริ่มเดินขาโก่ง หรือขาแยกโดยไม่รู้ตัว
เสียงดังกรอบแกรบลั่นออกมาจากข้อ อันตรายหรือไม่?
เสียงจากข้อต่อเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ อาจจะเกิดจากปลอกหุ้มข้อต่อขยายออกและแรงดันในข้อต่อลดลง จนก๊าซที่ละลายอยู่ในน้ำไขข้อมารวมตัวกันจนกลายเป็นก๊าซขนาดใหญ่ จากนั้นเมื่อปลอกหุ้มข้อต่อขยายออกไปอีก น้ำไขข้อไหลกลับเข้าสู่ข้ออีกครั้ง ฟองก๊าซนั้นก็ยุบตัวลงอย่างรวดเร็ว จนเป็นเสียงดังในข้อขึ้นมา
นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการขยับกระดูกบริเวณข้อต่ออย่างต่อเนื่อง เป็นการกระทบ หรือเสียดสีกันระหว่างกระดูกอ่อน เส้นเอ็น และส่วนอื่นๆ บริเวณใกล้เคียง
แต่หากเป็นเสียงของกระดูกอ่อนที่เชื่อมต่อข้อต่างๆ เสื่อมสภาพลง จนเกิดเป็นอาการอักเสบขึ้นมา เมื่อนั้นก็ถือว่าเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน
5 วิธีหลีกเลี่ยงการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
- บริหารกล้ามเนื้อรอบหัวเข่าอยู่เสมอ โดยนั่งเหยียดและกระดกปลายเท้าโดยไม่งอเข่า และสามารถออกกำลังกายบริหาร โดยใช้ท่าหมุนหัวเข่า หมุนไปกลับ 3 เช็ต เช็ตละ 20 ครั้ง หรืออาจเป็นท่าอื่นๆ ที่ใกล้เคียงได้
- หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ หรือหลายขั้นๆ มากเกินไป
- ควบคุมน้ำหนักของร่างกายไม่ให้มากเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
- หากมีอาการปวดหัวเข่ามากๆ จนทนไม่ไหว สามารถเลือกทานยาแก้อักเสบของข้อเข่าได้ แต่ควรทานเมื่อจำเป็นเท่านั้น
- หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ต้องงอเข่ามากๆ เช่น การนั่งยองๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งคุกเข่านานๆ
หากมีอาการเจ็บปวดมาก หรือรู้สึกเสียงแปร๊บที่หัวเข่า ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี อย่าซื้อยามาทานเองทุกครั้งที่มีอาการปวดเป็นอันขาด เพราะนอกจากจะไม่ใช่วิธีการรักษาที่ถูกต้องแล้ว อาจมีความเสี่ยงที่จะดื้อยา หรือใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ถูกต้องได้