ทำฟันเถื่อน ระวัง! ติดเชื้อเสี่ยงมะเร็ง
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ โรคฟันของคนไทย ยังเป็นปัญหาโดยเฉพาะ การสูญเสียฟัน ทำให้ประชาชนจำนวนมากฟันหลอ ผลสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ
โดยกรมอนามัย ครั้งล่าสุดในปี 2555 พบผู้ที่มีอายุ 35-44 ปี ถอนฟันเฉลี่ย 3.7 ซี่ต่อคน ส่วนอายุ 60-74 ปี ถอนเฉลี่ย 13.2 ซี่ต่อคน ทั้ง 2 กลุ่มนี้ พบในเขตเมืองมากที่สุด รองลงมาคือเขตกทม. จึงทำให้มีผู้ฉวยโอกาส เปิดร้านทำฟันปลอมโดยมีการ ตั้งโต๊ะรับทำในตลาดสด รวมทั้ง ในหมู่บ้านจัดสรร หรือออกไปรับทำ ตามบ้าน โดยรับทำราคาถูกกว่าคลินิก ซี่ละประมาณ 500 บาท และไม่ต้องรอนานเหมือนทำกับทันตแพทย์ ส่วนใหญ่ช่างที่รับทำจะบอกว่า เคยเป็นลูกจ้าง หมอฟัน วัสดุที่ใช้ทำฟันปลอมเป็นประเภท และชนิดเดียวกับที่ทันตแพทย์ใช้ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อและใช้บริการ
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสบส.กล่าวว่า การใส่ฟันปลอมจากผู้ที่ไม่มีความรู้ ไม่ใช่ทันตแพทย์ มีความเสี่ยงอันตราย บางครั้ง ช่างทำฟันเถื่อนอาจเชื่อมฟันปลอมติดกับซี่ฟันดีเลียนแบบตามที่ทันตแพทย์จริงใส่ ฟันปลอมชนิดนี้ไม่สามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้ หากฟันที่ยึดติดกับฟันปลอมมีปัญหาโยกคลอน หรือมีหินปูนเกาะ หรือมีปัญหาผุ เชื้อจะหมักหมมอยู่ภายใต้ฟันปลอม เชื้อโรคจากฟันที่ผุ หรือเชื้อจากเหงือกที่อักเสบจากคราบหินปูน จะลุกลามอักเสบ เป็นหนอง จนไม่สามารถเก็บฟันแท้ซี่นั้นต่อไป
ประการสำคัญ ฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษาอย่าง ถูกต้อง การผุก็จะลุกลาม ลงสู่โพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายออกจากฟันไปสู่เนื้อเยื่ออื่นๆ ลุกลามไปยังบริเวณที่สำคัญ เช่น ที่ใต้คาง ใต้ตา อาการปวดและบวมจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจมีอันตราย ถึงแก่ชีวิตได้ ผลที่ได้จึงไม่คุ้มเสีย นอกจากนี้ฟันปลอมที่ใส่ลวดยึดฟันที่ทำจากหมอฟันเถื่อน หากไม่พอดี ลวดอาจจะครูดกับเหงือก ทำให้เป็นแผล หากเป็นแผลเรื้อรัง เสี่ยงเป็นมะเร็งช่องปาก โดยโรคมะเร็งในช่องปากนี้ สาเหตุ 1 ใน 10 มาจากการใส่ฟันปลอมที่ไม่ได้มาตรฐาน