ภาวะเครียด-ซึมเศร้าเรื้อรัง "อันตราย"

ภาวะเครียด-ซึมเศร้าเรื้อรัง "อันตราย"

ภาวะเครียด-ซึมเศร้าเรื้อรัง "อันตราย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

         ล่าสุด ปี 2557 มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.07 รายต่อแสนประชากร โดยสาเหตุการฆ่าตัวตายมีปัจจัย หลายอย่างประกอบกัน ทั้งจากด้านร่างกาย จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตและจิตเวชซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีความคิดฆ่าตัว ตาย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ที่ใช้สารเสพติด หรือเหตุบกพร่องในการทำหน้าที่ของครอบครัว ประวัติการฆ่าตัวตายในครอบครัว รวมไปถึง เป็นผู้ครอบครองปืน อาวุธ หรือมีปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น

 

         นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า คนเราขณะมีความเครียดอาจเลือกคิดถึงสิ่งต่างๆ ในทางลบ แล้วควบคุมไม่ได้ คิดว่าสิ่งนั้นน่าจะเป็นทางออก ทำให้เลือกใช้วิธีที่รุนแรงกับตัวเราเองและคนในครอบครัว การฆ่าตัวตายในครอบครัวส่วนใหญ่จะเกิดจากการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ อยู่ในภาวะเครียดเรื้อรังมานาน ทำให้เกิดภาวะท้อแท้สิ้นหวัง ที่อาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะซึมเศร้า ประกอบด้วยการขาดการขอรับคำปรึกษา จากคนรอบข้าง หรือเข้ารับบริการทางการแพทย์

       นอกจากนี้ ก็มักจะพบว่า คนที่มีอิทธิพลทางจิตใจเหนือกว่าคนอื่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพ่อ ที่จะมีเหนือลูก หรือแม่ มักเลือกตัดสินใจยุติชีวิตคนในครอบครัวไปด้วย เพราะคิดว่า ถ้าตัวเองไปคนเดียวจะทำให้คนอื่นลำบากไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะทุกชีวิตย่อมมีสิทธิ ที่จะอยู่สู้ชีวิตบนโลกนี้ต่อไป นอกจากนี้ ยังมีคนที่เหลือและเครือญาติที่ยังต้องทนอยู่กับความทุกข์นี้ไปตลอดชีวิต

         การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ถ้า สามารถชะลอความคิดของเขาในช่วงนั้นแล้วช่วยให้เขาได้รับการช่วยเหลือ เพราะอารมณ์อยากฆ่าตัวตายเกิดขึ้นเพียงชั่ววูบ ซึ่งหากผ่านช่วงนั้นไปได้ เมื่อมีคนให้คำปรึกษาได้รับการรักษาหรือได้ยาที่ทำให้สภาพจิตใจสงบลงได้ความ คิดอยากฆ่าตัวตายก็จะหมดไป แนวทางป้องกัน ในระดับบุคคล โดยพื้นฐานหลักแล้ว คือ การมีวิธีจัดการกับความเครียดที่ดี เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยึดหลักศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เพื่อทำให้จิตใจสงบมากขึ้น รวมทั้ง ฝึกคลายเครียด ด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้ง การฝึกหายใจ ฝึกสมาธิ ตลอดจนการขอความช่วยเหลือจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

       ดังนั้น ควรเริ่มจากการสังเกตตนเองว่ามีความไม่สบายใจ วิตกกังวล เครียด หรือมีอารมณ์ฉุนเฉียว โดยไม่รู้สึกตัวบ้างหรือไม่ แล้วรีบหาวิธีจัดการ หาเพื่อนปรึกษา พูดคุยระบาย ช่วยกันคิดแก้ปัญหา ไม่เก็บปัญหาไว้คนเดียว รวมทั้งสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ตลอดจน สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง และหากพบว่า ตนเองอยู่ในภาวะเครียดรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ หรือขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ 

        "ขณะที่ครอบครัวและชุมชน ควรต้องดูแลกันและกัน โดยการเอาใจใส่สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป การฆ่าตัวตายมักจะมีสัญญาณเตือน เช่น บุคคลนั้นเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมมากๆ เปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพฉับพลัน โกรธง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ไม่สนใจสิ่งที่เคยเอาใจใส่ ดูแล แยกตัวจากเพื่อนฝูง/ครอบครัว ไม่มีสมาธิ ท้อแท้ สิ้นหวัง ชีวิตไม่มีจุดหมาย เศร้าเรื้อรัง/ร้องให้ง่าย ดื่มสุราจัด ใช้ยาเสพติด หรือเสาะแสวงหาอาวุธ เป็นต้น ประกอบกับ หากมีประวัติทำร้ายตัวเอง หรือมีความพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ที่สำคัญ ควรรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน ตำหนิวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้น และคอยเป็นเพื่อนอยู่ข้างๆ" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook