เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้โตไปเป็น “ฆาตกร”

เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้โตไปเป็น “ฆาตกร”

เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้โตไปเป็น “ฆาตกร”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากข่าวสะเทือนขวัญที่เป็นเรื่องที่ถกเถียง และกล่าวถึงกันอย่างไม่ขาดสาย สำหรับเหตุ #ฆ่าหั่นศพ ที่ไม่ใช่ครั้กแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่น่าวิตกกังวลเลยแม้แต่น้อย หนำซ้ำยังยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคม สภาพแวดล้อมปัจจุบันว่าเรากำลัง “มีปัญหา” ยิ่งไปกว่านั้น จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นฆาตกรรมด้วยวิธีใด ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะยอมรับกันได้ง่ายๆ หรือปล่อยให้เกิดขึ้นแล้วผ่านไปโดยไม่มีการแก้ไข หรือหาถึงสาเหตุต้นตอของปัญหาที่แท้จริง

เมื่อสังคมจะดีได้ ต้องเริ่มจากครอบครัว เพราะฉะนั้น Sanook! Health จึงขออนุญาตนำบทความจากเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา โดย หมอมินบานเย็น หรือ พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้ศึกษากันค่ะ ว่าเราจะเลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้โตไปเป็น “ฆาตกร”

mother-childiStock

____________________

เลี้ยงดูลูกหลานอย่างไร เพื่อที่เมื่อเขาเติบโตขึ้นจะได้ไม่ไปฆ่าใคร

ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันก่อน ถือเป็นเรื่องสะเทือนขวัญและกระทบกระเทือนความรู้สึกของคนที่รับรู้

เรื่องของการทำร้ายเอาชีวิตกัน ไม่ว่ากับใครๆ อาจจะเป็นคนที่อ่อนแอ ไม่มีทางสู้ อาจเป็นการแก้แค้น การจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความรุนแรง ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

มีคนบอกว่าอย่างฟังความเห็นหมอในเรื่องนี้ หมอขออนุญาตไม่เท้าความถึงรายละเอียด เพราะสื่อต่างๆก็ให้พื้นที่กับข่าวนี้อย่างมาก

หมอคิดว่า สิ่งที่เราอาจจะได้เรียนรู้ก็คือ การป้องกัน ทำอย่างไรให้เด็กคนหนึ่งโตขึ้นไปไม่ทำร้ายใคร ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความพยายาม เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เวลาและแรงใจของคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเด็กคนหนึ่ง

ทำอย่างไรจึงจะปลูกฝังเด็กให้มีจิตสำนึกที่จะไม่ทำในสิ่งที่เบียดเบียนคนอื่น

ไม่ต้องถึงขนาดไปฆ่าใคร แค่ทำให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจ ก็ไม่ควรจะทำ

ความผิดบางอย่างที่คนคนหนึ่งทำกับอีกคนหนึ่ง กฎหมายอาจจัดการได้ส่วนหนึ่ง แต่ชีวิตที่สูญเสียคงไม่สามารถกลับคืนมา

เรื่องมโนธรรม จิตสำนึกในใจของคน มีความสำคัญ

เช่น เด็กคนหนึ่งไปรังแกเพื่อน

อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ความไม่เอาใจใส่ในความรู้สึกของคนรอบข้าง อาจทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เบียดเบียนคนรอบข้างในสังคมต่อไปได้

เป็นโจทย์สำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครอง จริงอยู่ว่าอาจมีหลายปัจจัยที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตไปเป็นอย่างไรหรือแบบไหน แต่การเลี้ยงดู ก็ถือเป็นปัจจัยหลักที่มีความสำคัญ

 

เลี้ยงลูกให้ไม่ไปโตขึ้นฆ่าใคร ทำอย่างไร?

1. เป็นตัวอย่างที่ดี

ความเสี่ยงหนึ่งของเด็กที่กลายเป็นอาชญากร ก็คือ พ่อแม่ทำในเรื่องผิดๆ ให้ลูกเห็นบ่อยๆ หรือเด็กเห็นตัวอย่าง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอาชญากรรม มีคนไข้เด็กวัยรุ่นที่มาด้วยเรื่องขโมยของเพื่อน ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่อะไร เมื่อซักประวัติไป ก็พบว่าพ่อของเด็กก็เป็นคนที่มีนิสัยชอบลักขโมยและคดโกง เมื่อเด็กเห็นตัวอย่างที่ไม่ดีมาตั้งแต่เล็ก ก็มีแนวโน้มที่จะมองว่าเรื่องไม่ดีเช่นนั้นเป็นเรื่องปกติที่คนทำกัน

 

2. พ่อแม่ต้องมีความใกล้ชิดผูกพัน ให้ความอบอุ่น

เด็กจะรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ไว้วางใจพ่อแม่ เป็นพื้นฐานจิตใจที่จะนำไปสู่ “ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น” ไม่ทำอะไรให้คนอื่นเสียใจ เริ่มที่เห็นใจพ่อแม่ เพราะไม่อยากให้พ่อแม่เป็นทุกข์หรือเสียใจ และตรงนี้จะกลายเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเห็นอกเห็นใจคนอื่นๆ ต่อไป

 

3. รักลูกให้ถูกทาง

พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่ความรักแบบมีสติเป็นเรื่องจำเป็น บางคนรักลูกมาก ตามใจทุกอย่าง อยากให้อะไรก็ให้ ลูกก็จะกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่สนใจถ้าทำในเรื่องที่คนอื่นเดือดร้อน

 

4. สอนให้ลูกมีความรับผิดชอบและควบคุมตัวเอง

เด็กๆ จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ต้องรู้จักที่จะควบคุมตัวเองได้ รู้ว่าอะไรควรไม่ควรทำ มีวินัย รับผิดชอบ ถ้าพ่อแม่ไม่สอน เด็กๆ ก็จะไม่รู้

 

5. ให้รู้จักว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ

พ่อแม่ควรจะใจดี ใจเย็น แต่ไม่ควรใจอ่อนเกินไป เวลาที่บอกเด็กว่าอะไรที่ต้องทำ หรือห้ามทำอะไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น อย่างไรก็ตามก็ต้องเข้าใจความต้องการ ความรู้สึกว่าเด็กคงไม่ชอบที่พ่อแม่ขัดใจ แต่ก็ต้องยืนยันไปตามที่ตกลงกัน เขาจะรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ

 

6. จับที่ถูกและชมเชย

เมื่อเห็นว่าเด็กทำอะไรที่ดี ก็ต้องรีบชมเชย เป็นกำลังใจและสร้างแรงจูงใจที่ให้เขาทำดีต่อไป

 

7. เอาใจลูกมาใส่ใจเรา

เด็กจะรู้สึกดีถ้าพ่อแม่เห็นอกเห็นใจ รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของเขา ในสถานการณ์ความขัดแย้งกัน การแสดงออกว่าพ่อแม่เข้าใจว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร จะทำให้คุยกันเข้าใจขึ้น และเมื่อลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ก็เข้าใจและเห็นใจเขา เขาก็จะมีความเข้าใจและเห็นใจคนรอบข้างต่อไป

 

8. สอนให้ลูกรู้จักจัดการกับความโกรธ

อารมณ์โกรธเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ที่สำคัญกว่าคือ การจัดการความโกรธนั้นของตัวเอง เช่น โกรธได้เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การจัดการความโกรธอย่างเหมาะสมสำคัญกว่า ไม่ใช่ว่าโกรธแล้วจะต้องทำร้ายทำลายคนอื่น พ่อแม่ก็ต้องทำเป็นตัวอย่าง ว่าโกรธได้ แต่สามารถจัดการได้ เช่น โกรธก็ไปหาอะไรทำ ปรึกษาคนที่ไว้ใจ ไปออกกำลังกาย เป็นต้น

 

9. สอนให้ลูกคิดอะไรไกลๆ มีเป้าหมายในชีวิต

หลายๆ ครั้งเด็กที่ทำผิดรุนแรง เป็นเพราะตามเพื่อน หรือ คิดอะไรง่ายๆ สั้นๆ ถ้าเด็กมีเป้าหมายว่าอนาคตอยากทำอะไร เป็นอะไร เด็กก็จะมีแนวโน้มดูแลตัวเองเพื่อไปสู้เป้าหมายนั้นได้ ลองพูดคุยถึงความฝันความหวังของเด็กเมื่อมีโอกาส

 

10. ปลูกฝังทักษะการกล้าที่จะปฏิเสธในเรื่องไม่ถูกต้อง

เด็กๆ ส่วนหนึ่งที่ทำผิด เกิดเพราะการกดดันจากกลุ่มเพื่อน ว่าถ้ารักเพื่อนต้องทำตามๆกัน ต้องช่วยกัน แม้ว่าบางครั้งจะเป็นเรื่องที่ผิด เช่นไปเสพยาเสพติด ไปล้างแค้นฝ่ายตรงข้าม ควรปลูกฝังเรื่องความหนักแน่น กล้าที่จะปฏิเสธในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

 

11. รู้จักเพื่อนของลูก

ลองชวนเพื่อนลูกมาเที่ยวบ้าน ทำอาหารให้กิน พูดคุยกัน พ่อแม่จะได้รู้เขารู้เรา ว่าเพื่อนๆที่ลูกคบอยู่เป็นคนแบบไหนยังไงบ้าง

 

12. ถ้าจะทำโทษลูกเวลาเขาทำผิด ไม่ควรใช้ความรุนแรง

เวลาลูกทำผิด บอกเขาว่าอะไรที่ไม่ควรทำ และเพราะอะไร หลีกเลี่ยงการทำโทษรุนแรง เช่น การใช้คำพูดรุนแรง การตีรุนแรง หรือการทำร้ายร่างกาย การถูกกระทำรุนแรงบ่อยๆ โดยเฉพาะจากพ่อแม่ จะทำให้ลูกเกิดบาดแผลทางใจ และซึมซับพฤติกรรมรุนแรง และอาจจะกลายเป็นคนที่ใช้ความรุนแรง ไม่เห็นอกเห็นใจใคร

#หมอมินบานเย็น

____________________

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook