แบบทดสอบ คุณกำลังเสี่ยงเป็นโรค “ข้อเสื่อม” อยู่หรือไม่?
Sanook! Health นำแบบทดสอบง่ายๆ ว่า คุณกำลังเสี่ยงเป็นโรค “ข้อเสื่อม” อยู่หรือไม่? มาให้ลองทำกันก่อนที่จะอ่านบทความด้านล่างค่ะ ถ้าพร้อมแล้ว ก็ไปตอบคำถามกันเลย ใครตอบใช่มากกว่า 3 ข้อ ก็เตรียมอ่านต่อได้เลยนะ เพราะคุณอาจกำลังเสี่ยงโรคข้อเสื่อมได้
- คุณมีอาการปวดข้อมานานเกิน 6 สัปดาห์ (เดือนครึ่ง)
- อาการปวดของคุณ เริ่มมากจากการปวดเป็นข้อๆ เพียง 1-2 ข้อก่อน เช่นข้อเข่า ข้อศอก ข้อมือ ฯลฯ
- ระดับความปวดของคุณอยู่ที่น้อย ถึงปานกลาง และอาจปวดมากขึ้นเมื่อคุณต้องลงน้ำหนักที่บริเวณนั้น หรือใช้งานบริเวณนั้น
- คุณจะปวดน้อยลง หรือดีขึ้น เมื่อได้พักส่วนนั้นๆ
- คุณค่อยๆ ปวดในบริเวณนั้นๆ จากน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ปวดมากขึ้นในเวลาช้าๆ ไม่ได้ปวดแบบกะทันหัน
- ตอนเช้าจะรู้สึกข้อฝืดตึง แต่จะมีอาการอยู่ไม่นาน (ไม่เกิน 30 นาที)
- เคยมีอาการเข่าพับ ขาอ่อนแรงขณะเดินๆ อยู่ดีๆ
- รอบข้อๆ ที่ปวด มีอาการบวมร่วมด้วยเล็กน้อย
- ปวดส่วนไหน ข้อของส่วนนั้นก็จะยืดตึงได้ไม่สุด เช่น กางขา กางแขนได้ไม่สุด หากมีอาการปวดข้อเข่า หรือข้อศอก
- มีเสียงดังกรอบแกรบเมื่อขยับอวัยวะนั้นๆ
- ข้อนิ้วโตขึ้น และแข็ง สวมหรือถอดแหวนได้ลำบาก
หากมีใครตอบว่า “ใช่” มากกว่า 3 ข้อ แสดงว่าคุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคข้อเสื่อม หรืออักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียด
iStock
ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคข้อเสื่อม
- ผู้สูงอายุทั้งชาย และหญิง (โดยพบเป็นผู้หญิงมากกว่า) อายุ 50-60 ปี หรืออาจน้อยกว่านี้ก็ได้
- ผู้ที่มีน้ำหนักมากเกินมาตรฐาน
- ผู้มีโครงสร้างทางร่างกาย หรือข้อต่างๆ ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือหลังจากได้รับอุบัติเหตุหนักๆ
- ใช้งานร่างกายอย่างหักโหม
- เป็นผู้ที่มีกล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรง
วิธีลดความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเสื่อม
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สร้างกล้ามเนื้อในร่างกายให้แข็งแรง
- ทานอาหารให้เหมาะสม ให้ครบ 5 หมู่ และเสริมสร้างกระดูกด้วยอาหารที่มีวิตามินดี และแคลเซียม เช่น นม ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อย
- ควบคุมน้ำหนักให้พอดี ไม่เกินมาตรฐาน
- หากมีอาการปวดตามข้อบ่อยๆ หรือนานๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ก่อนอาการจะเป็นหนัก
ปัจจุบัน ผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมอายุน้อยลงทุกที ไม่ได้จำกัดแต่วัยชราอีกต่อไป เพราะด้วยอาหารที่ทานอาจไม่มีสารอาหารที่ดีพอ น้ำหนักตัวที่มากเกินมาตรฐาน หรือในบางคนที่มีความผิดปกติของร่างกายที่ทำให้กระดูกไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ก็มีส่วนทำให้มีความเสี่ยงในโรคนี้มากกว่าคนอื่น แต่ถึงอย่างไร การสังเกตตัวเอง และปรึกษาแพทย์ เป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ