จริงหรือไม่? กรดไหลย้อน ปล่อยไว้นานกลายเป็นมะเร็งได้?
โรคยอดฮิตของวัยทำงาน นอกจากออฟฟิศซินโดรมแล้ว ก็หนีไม่พ้นโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการทานอาหารอย่าง “กรดไหลย้อน” ที่สร้างความทรมานให้กับคุณได้มากกว่าที่คุณคิด แถมเป็นนานๆ ยังเสี่ยงเป็นมะเร็งอีกด้วยจริงหรือ? แล้วพฤติกรรมแบบไหนที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อน? ตามมาอ่านกันค่ะ
กรดไหลย้อน คืออะไร?
ก่อนอื่นขออธิบายถึงโรคนี้อย่างคร่าวๆ ก่อน กรดไหลย้อน คืออาการที่กล้ามเนื้อหูรูดในกระเพาะอาหารเกิดความผิดปกติ ไม่สามารถเปิดปิดได้สนิทดีเหมือนที่ควรจะเป็น มีลักษณะหย่อนตัวลง จึงทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนออกมาที่หลอดอาหาร และกล่องเสียงของเราได้
กรดไหลย้อน มีอาการอย่างไร?
- เรอเปรี้ยว
- ปวดแสบปวดร้อนกลางอก
- กลืนลำบาก
- เจ็บหน้าอก
- ไอเรื้อรัง
- กล่องเสียง และหลอดอาหารอักเสบ
กรดไหลย้อน มีสาเหตุมาจากอะไร?
โรคกรดไหลย้อน มีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมในการทานอาหาร การทานอาหารไม่เป็นเวลา ชอบดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ทานอาหารเผ็ด รสจัด อาหารมัน อาหารทอด และอาหารหวานอย่างพวกเบเกอรี่ เค้ก ช็อกโกแลตมากเกินไป
นอกจากนี้ การทานอาหารในเวลาดึกเกินไป แล้วเข้านอนเลย ไม่รอให้ย่อยก่อน ก็เป็นสาเหตุของโรคกรดไหลย้อนได้เช่นกัน
iStock
กรดไหลย้อน เสี่ยงมะเร็ง?
การปล่อยให้เกิดอาการอักเสบขึ้นในแผลที่เกิดจากการกัดของน้ำย่อยในกระเพาะอาหารที่หลุดออกมาทำร้ายบริเวณกล่องเสียง และหลอดอาหารไปนานๆ อาจทำให้เซลล์เยื่อบุผิวบริเวณนั้นกลายเป็นเซลล์มะเร็งในภายหลังได้ แต่ก็มีโอกาสไม่มากนัก ราวๆ 1-6% เท่านั้น แต่ถึงกระนั้นแผลจากน้ำย่อยของกระเพาะอาหารก็ทำให้เกิดความทรมานกับผู้ป่วยเป็นระยะเวลานานเหมือนกัน
กรดไหลย้อน ป้องกันอย่างไร?
เพียงทานอาหารให้ตรงเวลา ควบคุมอาหารประเภทอาหารรสจัด เปรี้ยว เผ็ด รวมถึงอาหารพวกชา กาแฟ น้ำอัดลม (เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นสาเหตุทำให้กล้ามเนื้อหูรูดที่กระเพาะอาหารหย่อนตัว) ของทอด ของมัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขนมเบเกอรี่อย่าง เค้ก ช็อกโกแลต และงดสูบบุหรี่ ทานอาหารก่อนถึงเวลานอน 3-4 ชั่วโมง (เพื่อรอให้อาหารย่อยก่อน) เลือกทานอาหารประเภทต้ม รสไม่จัด ไม่ดื่มเครื่องที่มีคาเฟอีนมากกว่า 1 แก้วต่อวัน และไม่ทานอาหารมากจนเกินไปจนทรมานท้อง เท่านี้ก็ช่วยให้เราห่างไกลจากโรคกรดไหลย้อนได้ง่ายๆ แล้วล่ะค่ะ