4 สัญญาณอันตราย ได้เวลารักษา “รากฟัน”
ใครที่ไม่เคยต้องรักษารากฟัน ไม่รู้หรอกว่ามันลำบากแค่ไหน ไม่ใช่เรื่องอาการเจ็บปวดหรอก เพราะเรื่องนั้นมันจิ๊บจ๊อย แต่ความปวดร้าวมันอยู่ที่ค่ารักษารากฟัน ที่ทำเอาเงินเก็บที่สะสมเอาไว้ทั้งชีวิตหายไปรวดเดียวหลายหมื่นเลยต่างหาก ครั้นจะไม่รักษามันก็ไม่ได้ เพราะอาการปวดฟันมันทรมานรามไปทั้งกราม ทานข้าวก็ไม่อร่อย และที่สำคัญ รากฟันอยู่ใกล้เส้นประสาท หากปล่อยไปเรื่อยๆ อาจส่งไปถึงการทำงานของสมองได้ เรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที
อาการแบบไหนที่เริ่มเป็นสัญญาณบอกเราว่า “รากฟันของเรากำลังจะแย่แล้ว” มาสังเกตตัวเองกันค่ะ
-
ปวดฟัน
อาการปวดฟันก็มีอยู่หลายระดับ แต่ไม่ใช่อาการที่ดีอย่างแน่นอน จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะปวดน้อย หรือปวดมาก เราก็ไม่ควรเพิกเฉยกับอาการปวดฟัน เพียงแต่หากเป็นอาการที่หนักไปจนถึงรากฟันแล้วล่ะก็ จะเป็นอาการปวดฟันแบบเพียงเล็กน้อย นานๆ ปวดที แต่ก็มีอาการปวดอยู่เรื่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาจปวดตุบๆ ในเวลาก่อนนอนตอนกลางคืน เป็นต้น
-
เสียวฟันมาก
รับประทานอาหารทั้งของร้อน และของเย็น เช่น น้ำชาร้อนๆ ไอศกรีมเย็นๆ แล้วมีอาการเสียวฟันจิ๊ดขึ้นมาเลย เสียวมากจนไม่สามารถทนได้ ต้องรีบกลืนอาหารเข้าไปในคอ หรือใช้ลิ้นดันเอาอาหารนั้นๆ ออกจากบริเวณฟันซี่นั้นให้เร็วที่สุด เพราะทนให้มันเสียวแบบนั้นต่อไปไม่ได้
-
ปวดหรือร้าวฟัน เมื่อกัด หรือเคี้ยวอาหารด้วยฟันซี่นั้น
ระหว่างอ้าปากงับขนมปัง เคี้ยวน้ำแข็งใส ฉีกไก่ออกมาจากกระดูกน่อง หรือเคี้ยวผลไม้ตุ้ยๆ แต่ดันปวดฟันหรือร้าวลงไปลึกถึงเงือก นี่ก็ไม่สัญญาณที่ดีอีกเช่นกัน
-
ฟันแตก / ฟันผุอย่างรุนแรง
หากปวดฟันมากๆ แล้วสังเกตเห็นว่าที่ฟันมีรอยร้าว หรือมีอาการผุอย่างรุนแรงกว่าเก่า เป็นสัญญาณว่าใกล้จะได้เวลารักษารากฟันเป็นที่แน่นอน เพราะส่วนใหญ่อาการแบบนี้หมายถึง ฟันแตก หรือฟันผุมากจนทะลุโพรงฟัน
หากมีสัญญาณอันตรายใดๆ ต่อไปนี้ ควรรีบพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด
iStock
รักษารากฟัน ทำอย่างไร?
โดยปกติแล้ว ทันตแพทย์จะกำจัดเอาเนื้อฟันที่อักเสบ หรือติดเชื้อออกไปก่อน จากนั้นจึงเริ่มเข้าไปทำความสะอาดรากฟัน และหยอดยาลงไปในคลองรากฟัน แล้วค่อยปิดฟันด้วยวัสดุอุดฟันชั่วคราวเอาไว้ก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ (หากที่อุดฟันหลุด หรือแตก ควรรีบพบแพทย์ก่อนที่จะเกิดอาการติดเชื้อขึ้นอีก)
หลังจากนั้นทันตแพทย์จะนัดมาตรวจเช็กดูเรื่อยๆ จนกว่าจะแน่ใจว่ารากฟันไม่มีอาการอักเสบอีกแล้ว จึงค่อยอุดปิดคลองรากฟันอย่างถาวรอีกที เพื่อทำการบูรณะตัวฟันต่อไป โดยหลังจากนี้การบูรณะฟันของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันออกไป ตามสภาพของฟันดีที่ยังเหลืออยู่ เช่น อุดฟัน ใส่เดือยฟัน หรือจะครอบฟัน
iStock
ข้อควรปฏิบัติหลังรักษารากฟัน
ช่วงแรกๆ อาจยังอาการปวดฟันอยู่บ้าง แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น หลังจากนั้นพยายามอย่าใช้ฟันเคี้ยว หรือกัดอาหารที่มีความแข็ง และเหนียวมากจนเกินไป เพราะฟันจริงเรามีเหลือไม่เยอะ ที่เหลือคือสิ่งที่ใส่มาทดแทน จึงอาจมีเปราะ แตก หรือหลุดได้หากไม่ระมัดระวัง นอกจากนี้การรักษารากฟันอาจต้องใช้เวลา ควรไปพบทันตแพทย์ตามที่นัดทุกครั้ง เพราะหากไม่ไปตรวจเช็คตามเวลา อาจทำให้การรักษาไม่ได้ประสิทธิภาพที่ดี และมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียฟันซี่นั้นไปโดยถาวร