ปวดหัวแบบไหน เสี่ยง “เนื้องอกในสมอง”
อาการปวดศีรษะสามารถเกิดขึ้นได้แทบทุกวัน กับทุกเพศ และทุกวัย หากแต่สาเหตุของอาการปวดศีรษะมีมากมายนับไม่ถ้วน แต่ละอาการปวดก็ไม่เหมือนกัน และด้วยอาการปวดที่ไม่เหมือนกันนี่แหละค่ะ ที่จะบอกเราได้ว่า เราปวดศีรษะเนื่องมาจากสาเหตุใด เป็นโรคร้ายแรงอะไรหรือไม่ หนึ่งในนั้นก็คือโรค “เนื้องอกในสมอง” ที่เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้าง ถึงแม้จะไม่บ่อยนัก แต่ปัจจุบันยังพบผู้ป่วยโรคนี้ในทุกเพศทุกวัย
เนื้องอกในสมอง เกิดจากสาเหตุใด?
เป็นที่น่าเสียดายว่าสาเหตุของโรคเนื้องอกในสมองยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจมีผู้ป่วยบางรายพบว่ามีความผิดปกติจากพันธุกรรม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหากพบพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้แล้วเราต้องเป็นตามไปด้วยเสมอไป เพราะนอกจากเรื่องของพันธุกรรมแล้ว การเป็นมะเร็งที่ส่วนอื่นๆ แต่เชื้อแพร่กระจายไปที่ส่วนของสมอง ก็อาจทำให้เกิดเนื้องอกในสมองขึ้นได้เช่นกัน
เนื้องอกในสมอง มีกี่ประเภท?
- เนื้องอกในสมองที่เกิดขึ้นจากเซลล์ของสมองเอง ซึ่งจะแบ่งออกเป็นชนิดที่เป็นเนื้อร้าย (มะเร็ง) และไม่ใช่เนื้อร้าย ส่วนใหญ่มักพบในแบบที่ไม่เป็นเนื้อร้าย แต่ก็มีส่วนน้อยที่พบว่าเป็นเนื้อร้าย หรือมะเร็งเช่นกัน
- เนื้องอกในสมองที่มาจากการลุกลามของเนื้องอกในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
สัญญาณอันตรายของโรคเนื้องอกในสมอง
- ปวดศีรษะ
ตามปกติผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับสมองมักมีอาการปวดศีรษะอยู่แล้ว แต่หากใครเป็นเนื้องอกจะมีอาการที่เป็นลักษณะเฉพาะเจาะจงอยู่ เช่น
- ปวดศีรษะติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน และอาการปวดจะมากขึ้นเรื่อยๆ
- ปวดศีรษะในเวลานอนตอนกลางคืน จนทนไม่ไหวต้องตื่นขึ้นมากลางดึก
- อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งอ่อนแรง ขยับไม่ได้ดี และคล่องแคล่วเหมือนเดิม เส้นประสาททำงานอ่อนแรงลง โดยอาการนี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มอ่อนแรงลงตามอวัยวะบางส่วนแบบช้าๆ เช่น แขนหรือมืออาจจะเริ่มอ่อนแรงลงเรื่อยๆ บางรายอาจใบหน้าบูดเบี้ยว หรือหูตึง
- เริ่มมีอาการที่เกิดจากการทำงานของระบบประสาทผิดปกติ เช่น กระตุก ชัก อาจจะชักเป็นจุดๆ เช่น ชักเฉพาะแขนข้างใดข้างหนึ่ง หรือใบหน้ากระตุก เป็นต้น โดยจะยิ่งเห็นได้ชัด เมื่อคนๆ นั้นไม่เคยมีอาการชักกระตุกมาก่อน รวมถึงผู้สูงอายุด้วย
วิธีรักษาโรคเนื้องอกในสมอง
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ขนาด และตำแหน่งของเนื้องอก และความเสี่ยงอื่นๆ เพื่อเลือกวิธีรักษาที่ได้ผล และเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนให้ได้มากที่สุด โดยทั่วไปแล้วมีวิธีการรักษาอยู่ 3 วิธี คือ ผ่าตัด ฉายรังสี และให้ยาเคมีบำบัด หากเนื้องอกมีขนาดเล็ก และยังไม่ได้อยู่ในตำแหน่งใกล้เส้นประสาทสำคัญที่ทำให้เกิดอันตราย อาจจะเป็นแค่การติดตามอาการไปเรื่อยๆ ก่อน แต่หากพบว่าขนาด และตำแหน่งของเนื้องอกค่อนข้างอันตราย ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อวัยวะอ่อนแรง อาจต้องทำการรักษาทันที โดยอาจจะผ่าตัด ควบคู่ไปกับการฉายรังสี หรือเคมีบำบัดต่อจากนั้นอีกด้วย
เพราะฉะนั้น การตรวจสุขภาพประจำปี และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอๆ อาจช่วยให้เรารู้ถึงโรคอันตรายต่างๆ ได้เร็วยิ่งขึ้น และทำการรักษาได้ง่าย รวดเร็ว และเห็นผลมากยิ่งขึ้นอีกด้วยใครมีอาการตามสัญญาณอันตรายดังกล่าว ลองไปพบแพทย์เพื่อเข้าตรวจอย่างละเอียดดูนะคะ