"ความดันสูง" เพชฌฆาตเงียบ ทำลายหัวใจ-สมอง-ไต-ตา-หลอดเลือด

"ความดันสูง" เพชฌฆาตเงียบ ทำลายหัวใจ-สมอง-ไต-ตา-หลอดเลือด

"ความดันสูง" เพชฌฆาตเงียบ ทำลายหัวใจ-สมอง-ไต-ตา-หลอดเลือด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุที่สำคัญต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งภาวะความดันเลือดสูง(มากกว่า 140/90 มม.ปรอท) เป็นอยู่นานและไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดการทำลายอวัยวะสำคัญต่างๆ ในร่างกายได้ เช่น หัวใจ สมอง ไต ตา และหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต โรคไตวาย หรือตาบอดได้

 

สัญญาณอันตราย ความดันโลหิตสูง

สำหรับในประเทศไทย ปัญหาโรคความดันโลหิตสูงพบมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ทั้งนี้ ความดันโลหิตสูงในระยะแรกๆ อาจไม่มีอาการ แต่ความผิดปกติที่มักตรวจพบได้ก่อน คือมีหัวใจห้องล่างซ้ายโตหรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ส่วนอาการที่อาจพบได้กรณีที่ความดันโลหิตสูงมากๆ เช่น เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว คลื่นไส้ เป็นต้น ภาวะความดันโลหิตสูง จึงมักได้รับการขนานนามว่าเป็น “เพชฌฆาตเงียบ”

 

สาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูง

สาเหตุเกิดจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ พันธุกรรม อายุ เพศ เชื้อชาติ ภาวะอ้วน หรือนํ้าหนักเกิน ภาวะเครียด ขาดการออกกําลังกาย รับประทานอาหารเค็ม (เกลือโซเดียมมากเกินไป) เช่น กะปิ นํ้าปลา ของหมักดอง กุ้งแห้ง รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อติดมัน หนังสัตว์ ไข่แดง หอยนางรม นํ้ามันหมู อาหารประเภทผัด หรือทอด รับประทานอาหารหวานจัด เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง หม้อแกง นํ้าหวาน สูบบุหรี่จัด ดื่มสุราเป็นประจำ

 

อันตรายจากความดันโลหิตสูง

ความรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง หากไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้จะทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ ได้แก่ สมอง หัวใจ หลอดเลือด ตา และไต โดยสังเกตอาการที่เกิดกับอวัยวะต่าง ๆ ดังนี้

  • สมอง จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือหลอดเลือดในสมองแตก มีเลือดออกในเนื้อสมองส่งผลให้เกิดอัมพาต อัมพฤกษ์ หากพบอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงต้องรีบมาโรงพยาบาลภายใน 1 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้เสียชีวิตหรือทำให้เลือดออกในสมองรุนแรงได้

  • หัวใจ ความดันโลหิตสูงจะมีผลต่อหัวใจ 2 ทาง คือ ทำให้หัวใจโต และหลอดเลือดหัวใจหนาตัวและแข็งตัวขึ้น เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน จะมีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจล้มเหลวเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ หัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น และอาจเสียชีวิต หากมีอาการดังกล่าวแล้วนั่งพัก 3-5 นาที อาการยังไม่ดีขึ้นต้องรีบพบแพทย์ทันที

  • หลอดเลือด ความดันโลหิตสูงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบ หรือหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อาจเกิดการฉีกขาด เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง หรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้

  • ตา ความดันโลหิตสูงมีผลต่อหลอดเลือดที่ตา เช่น เลือดออกที่จอประสาทตา หลอดเลือดเล็กที่จอประสาทตาอุดตัน หรือจอประสาทตาหลุดลอกออกได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดๆ หรืออาจมีอาการตามัว จนถึงตาบอดได้

  • ไต ความดันโลหิตสูงมีผลต่อหลอดเลือดที่ไต ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ ทำให้ไตเสื่อมสมรรถภาพและอาจทำให้เกิดไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มแรกของภาวะไตวายเรื้อรัง คือ ปัสสาวะตอนกลางคืน มากกว่า 3 ครั้งต่อคืน ขาบวมตอนเช้าหลังตื่นนอน มีอาการอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรงจากภาวะซีด มักพบในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึมลงในผู้ป่วยไตวายระยะท้ายๆ ปัสสาวะมีสีขุ่นและเป็นฟองมาก

 noodleiStock

วิธีป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงสามารถควบคุมหรือป้องกันให้อยู่ในภาวะปกติได้ด้วย

  1. ควบคุมอาหารที่มีเกลือ (โซเดียม) สูง เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง จึงควรลดการรับประทานอาหารผ่านกระบวนการอาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารกระป๋องและอาหารขยะ (junk food) ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ขนมถุง แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด ไส้กรอก เป็นต้น

  2. ลดอาหารที่มีไขมันและนํ้าตาลสูง เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ที่หวานน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว กล้วย ส้ม แตงโม

  3. ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดการสูบบุหรี่

  4. ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่เครียด

  5. ออกกําลังกายอย่างสมํ่าเสมอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook