ตอบทุกข้อสงสัย! เมื่อไหร่ “ทารก” กินอาหารบดได้
ช่วงที่ผ่านมา มีข่าวสลดจากการเสียชีวิตของทารกถึง 2 รายติดกันภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ญาติผู้ใหญ่ป้อนกล้วยบด ข้าวบดให้ลูกหลานกินก่อนวัยอันควร
แม้จะมีข้อถกเถียงในเรื่องนี้มาโดยตลอด ระหว่างความเชื่อของคนสมัยก่อนหรือคนรุ่นปู่ย่าตายาย กับความรู้ที่ได้รับมาจากแพทย์ แต่ก็ยังมีคุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายคนที่ไม่สามารถขัดใจผู้หลักผู้ใหญ่ได้ หรือไม่ก็มีความจำเป็นต้องฝากทารกไว้ให้ญาติผู้ใหญ่ดูแล จนกลายเป็นความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น Tonkit มีคำแนะนำจากกุมารแพทย์ชื่อดัง แมรี่ แอล.แกวิน แห่งเว็บไซต์ kidshealth.org เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการให้อาหารทารกที่หลายคนข้องใจมาฝากกัน
ควรให้ทารกกินอาหารได้เมื่อไหร่
แพทย์หญิงแมรี่ ระบุว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการให้ทารกเริ่มกินอาหารอื่นๆ นอกเหนือจากนมแม่ คือเมื่อทารกได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการกินแล้วนั่นเอง ซึ่งแพทย์มักจะแนะนำให้คุณแม่รอจนลูกมีอายุ 6 เดือนเสียก่อน เพราะเริ่มมีความพร้อมสำหรับการกินอาหารที่จำเป็นต้องใช้การบดเคี้ยวได้แล้ว
จะรู้ได้อย่างไรว่ากินอาหารอื่นได้แล้ว
เด็กจะต้องคอแข็งพอ และสามารถควบคุมศีรษะได้ รวมถึงสามารถนั่งบนเก้าอี้สูง(สำหรับเด็ก)ได้ ซึ่งปกติแล้วมักจะอยู่ในช่วง 4- 6 เดือนไปแล้ว หากให้ลูกกินอาหารที่ไม่ใช่นมหรือน้ำเปล่า และมีปฏิกิริยาในการห่อปาก ใช้ลิ้นดุนอาหารออกมาทันที นั่นแสดงว่ายังไม่ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการให้ลูกกินอาหารใดๆ แม้ว่าจะเป็นกล้วยหรือข้าวที่บดแล้วก็ตาม ซึ่งตามธรรมชาติของเด็ก ปฏิกิริยาเหล่านี้จะเริ่มหายไปเมื่อมีอายุประมาณ 4-6 เดือน
iStock
สัญญาณอื่นๆ ที่แสดงว่าลูกพร้อมกินอาหารได้
เด็กเริ่มแสดงอาการสนใจในอาหาร เช่น มองในสิ่งที่คนอื่นกิน เอามือจับอาหาร เปิดปากเมื่อมีคนป้อนอาหาร เริ่มกลืนอาหารเป็น และมีน้ำหนักตัวมากกว่าตอนแรกเกิด 2 เท่า หรือใกล้เคียง
นมแม่สำคัญที่สุด ควรให้ต่อเนื่องจนถึง 1 ปี
หากลูกพร้อมกินอาหารได้แล้ว ก็ควรจะให้ลูกกินนมแม่ก่อน จากนั้นค่อยให้กินอาหาร เพราะนมแม่มีคุณค่าทางอาหารที่จำเป็นสำหรับลูกน้อย หากเป็นไปได้ควรให้ลูกกินนมแม่ไปจนกระทั่งอายุ 1 ขวบ ส่วนอาหารนั้นให้ควบคู่กันได้ แต่ต้องให้หลังจากกินนมไปแล้ว เพราะถึงอย่างไรเสียนมแม่ก็สำคัญที่สุด
ท่องไว้! น้ำผลไม้ไม่จำเป็นสำหรับทารก
หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าน้ำผลไม้ดีต่อสุขภาพของลูกน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ควรให้ทารกดื่มน้ำผลไม้ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะแทนที่จะได้รับคุณค่าทางอาหารจากการกินนมแม่ การดื่มน้ำผลไม้กลับทำให้เด็กอ้วนได้ง่ายจากน้ำตาลในน้ำผลไม้ นอกจากนี้ก็ยังเป็นสาเหตุให้ท้องเสีย รวมถีงเสี่ยงต่อการฟันผุเมื่อเริ่มมีฟันขึ้นด้วย