ไขข้อข้องใจ กินอะไร? ทำไมถึงเป็น "โรคเกาต์"

ไขข้อข้องใจ กินอะไร? ทำไมถึงเป็น "โรคเกาต์"

ไขข้อข้องใจ กินอะไร? ทำไมถึงเป็น "โรคเกาต์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ต้องขอออกตัวก่อนว่าเรื่องนี้เป็นความสงสัยส่วนตั๊วส่วนตัว สงสัยในเรื่องที่ว่าพวกเขาเหล่านั้น (ผู้ป่วย) กินอะไร ? ทำไมถึงเป็นโรคเกาต์ เห็นชอบบอกกันอยู่บ่อยๆ ว่าอย่ากินไก่เยอะสิ กินเยอะเดี๋ยวเป็นเกาต์นะ ไอเราก็ งง .. อยู่ดีๆ จะให้เลิกกินของอร่อย หรือกินไก่ทอด ไก่ย่าง ให้น้อยลงก็คงจะเป็นเรื่องที่ทรมานจิตใจอยู่ไม่น้อย วันนี้มีเวลาเหมาะๆ พอดี Sanook! Health เลยถือโอกาสไปหาเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคเกาต์มาฝาก จะได้หายข้องใจกันไปเลยว่ากินไก่ต่อได้ หรือกินต่อไม่ได้

โรคเกาต์ คืออะไร ?

โรคเกาต์ ก็เป็นโรคข้ออักเสบประเภทหนึ่ง พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของกรดยูริคภายในข้อ โดยกรดยูริคนี้ก็มาจากสารพิวรีนที่มีอยู่มากในอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์และถั่วเมล็ดแห้ง เตือนไว้ก่อนว่าใครที่เป็นโรคเกาต์เข้านะ จะต้องได้รับการดูรักษาไปต่อเนื่องตลอดชีวิตเลย (จริง 1000%) เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจจะทำให้ข้อต่างๆ ตามร่างกายของเราผิดรูป จนทำให้พิการได้ น่ากลัวมากจริงๆ

อาการแบบไหนถึงจะทำให้รู้ว่าเป็น โรคเกาต์ เข้าแล้ว ?

วิธีสังเกตก็ดูไม่ยาก ดูตามที่เราสรุปมาเป็นข้อๆ ได้เลย

  1. มีอาการปวดตามข้อ ข้อบวม ผิวบริเวณข้อแดง กดลงไปรู้สึกเจ็บ ซึ่งอาการปวดเกิดขึ้นได้กับข้อหลายตำแหน่ง อย่างที่มีการพบบ่อยๆ ได้แก่ ข้อนิ้วโป้งเท้า , ข้อเท้า และข้อเข่า โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นแบบฉับพลัน รวมถึงมีอาการไข้ขึ้นเล็กน้อยไปจนถึงไข้สูง

  2. เมื่อมีอาการปวดกำเริบขึ้นแต่ละครั้งก็จะกินเวลาไปประมาณ 3 - 7 วัน

  3. ถ้ารู้ตัวว่าเป็น โรคเกาต์ แต่ไม่รีบไปรักษา ปล่อยให้มีอาการแบบที่กล่าวมาอยู่เรื่อยๆ ต่อเนื่อง ก็เสี่ยงที่จะทำให้การอักเสบเกิดขึ้นซ้ำๆ จนทำให้ข้อบิดเบี้ยว เดินลำบาก ไปจนถึงพิการได้

  4. นอกจากนั้นก็ยังมีอาการอื่นเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น อาจพบนิ่วในไต หรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

สิ่งที่ไปกระตุ้นให้ โรคเกาต์ เกิดการเจริญเติบโต

ถ้าจะว่ากันง่ายๆ ก็คือสิ่งที่เรารับเข้าสู่ร่างกายแล้วเข้าไปเสริมให้มีโอกาสที่จะเป็น โรคเกาต์ เพิ่มขึ้น หรือถ้าหากเป็นอยู่แล้วก็จะยิ่งเสริมให้อาการที่มีรุนแรงมากขึ้นไปอีก ดังนี้

  • การกินอาหารที่มีสารพิวรีนประกอบอยู่มาก เช่น สัตว์ปีก, เครื่องในสัตว์

  • การดื่มเหล้าและเบียร์

  • ยาบางชนิด อาทิ ยาลดความดันโลหิตบางชนิด, ยาที่เพิ่มให้เลือดมีกรดยูริคสูง

  • ปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การบาดเจ็บ, ช่วงเวลาหลังผ่าตัดใหม่ หรือแม้แต่ความเครียดก็มีส่วนที่ทำให้เกิดโรคเกาต์ได้เหมือนกันนะ

 knee-hurt-2iStock

‘ปวดเกาต์’ เกิดขึ้นตอนไหนได้บ้าง ?

ตอนนี้เรายังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าอาการปวดเกาต์จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เนื่องจากแต่ละคนก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดได้แตกต่างกัน แต่โดยส่วนใหญ่เวลาที่บอกต่อไปนี้ผู้ป่วยมักจะเกิดอาการปวดขึ้นได้คล้ายๆ กัน

  • ช่วงเวลาที่เกิดความเครียดสูง มีแรงกดดันสูง
  • ช่วงเวลาที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ช่วงเวลาที่กินเลี้ยงในงานสังสรรค์ กินอาหารมากจนเกิดเป็นพิษต่อร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่มีกรดยูริคสูง
  • ช่วงเวลาที่ร่างกายไม่แข็งแรง หรือป่วย
  • ช่วงเวลาที่อากาศเย็น หนาว ฝนตก หรืออากาศมีความแปรปรวน

ระดับความรุนแรงของ ‘โรคเกาต์’

  1. Asymptomatic Hyperuricemia : ระยะนี้จะยังไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็น ถึงแม้ว่าจะมีกรดยูริคสะสมอยู่ในเลือดสูง แต่ยังไม่ทำให้เกิดอาการปวดใดๆ
  2. Acute Gouty Arthritis : ระยะนี้ผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดตามข้อขึ้นมาอย่างกะทันหัน
  3. Intercritical Gout (พัก) : ระยะนี้อาการปวดของผู้ป่วยจะหยุด หรือเริ่มหายปวดลงจากช่วงแรก เป็นระยะที่เว้นก่อนเริ่มอาการปวดในครั้งต่อไป โดยในระยะนี้แนะนำให้ผู้ป่วยรีบหาวิธีรักษาแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนจะกลับมามีอาการปวดอีก
  4. Recurrent Gout Arthritis : ระยะนี้ผู้ป่วยจะกลับมามีอาการปวดอีกครั้ง

Chronic Tophaceous Gout : ระยะนี้อาการปวดที่เกิดขึ้นจะรุนแรงจนถึงระดับเรื้อรังและปวดอย่างต่อเนื่อง ขยายบริเวณที่ปวดมากขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา

การตรวจวินิจฉัย

หากว่ามีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีบางอาการที่ส่อว่าเรากำลังเข้าสู่การเป็นผู้ป่วยโรคเกาต์ ก็ควรเดินทางไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยน่าจะดีกว่า ไม่ต้องเสียเวลาคิดไปกันเอง โดยแพทย์ก็จะมีการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การเจาะน้ำในข้อไปตรวจ ว่ากันว่าวิธีนี้เป็นวิธีการตรวจยืนยันที่ดีที่สุด ไม่ใช่แค่การตรวจหาว่าเป็นโรคเกาต์หรือไม่ แต่ยังช่วยวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ เพิ่มเติมได้ด้วย

  • การเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับกรดยูริคว่ามีสูงกว่าปกติหรือไม่

  • การ X-Ray บริเวณข้อที่มีอาการปวด โดยจะดูความผิดปกติได้จากภาพในรังสี

การรักษาโรคเกาต์

เมื่อเดินทางไปตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาแล้ว พบว่าตัวเองนั้นเป็น โรคเกาต์ จริงๆ แพทย์ก็จะให้ยามา พร้อมกับคำแนะนำเพื่อบรรเทาอาการ โดยที่เราก็ต้องปฏิบัติตามสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

  • ขณะที่โรคกำเริบ ควรกินยาตามแพทย์สั่ง

  • ทำการประคบเย็น

  • ควรลดการใช้ข้อ หลีกเลี่ยงการลงน้ำหลักที่ข้อที่เกิดการอักเสบ

  • กินน้ำให้เพียงพอ

ป้องกัน โรคเกาต์ เอาไว้ตั้งแต่ต้นต้องทำยังไง?

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดังต่อไปนี้ หัวใจไก่, ตับไก่, กึ๋นไก่, เซ่งจี้หมู, ตับหมู, ไต, ตับอ่อน, มันสมองวัว, เนื้อไก่, เนื้อเป็ด, ห่าน, ไข่ปลา, ปลาดุก, ปลาไส้ตัน, ปลาอินทรีย์, ปลาซาร์ดีน, กุ้งชีแฮ้, หอย, น้ำสกัดเนื้อ, น้ำต้มกระดูก, น้ำซุปต่างๆ, ซุปก้อน, ยีสต์, เห็ด, ถั่วดำ, ถั่วแดง, ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง, กระถิน, ชะอม, กะปิ เป็นต้น

  • ดื่มน้ำมากๆ

  • กินยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจต้องกินยาตลอดชีวิต

 

อื้อหือ! เป็นยังไงบ้างกับข้อมูลที่ Sanook! Health รวบรวมมาฝาก เรียกได้ว่าเคลียร์ชัดกันไปเลย ไม่ใช่แค่เฉพาะไก่เท่านั้นนะที่กินมากก็ไม่ดี แต่ยังรวมถึงสัตว์ปีกทุกชนิด ไปจนถึงเครื่องในที่จัดว่าเป็นเมนูโปรดของใครหลายๆ คน ฉะนั้นแล้ว ถ้าเลือกที่จะกินก็ต้องดูแลตัวเองกันให้ดีด้วย ดื่มน้ำให้มาก ออกกำลังกายให้เยอะ ร่างกายจะได้เผาผลาญ โรคเกาต์ จะได้ไม่ต้องถามหานะจ๊ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook