โรคตาแห้งอันตรายอย่างไร
คุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่
แสบตา ระคายเคืองตา เหมือนมีเม็ดทรายในตา ตาแห้ง ตาแดงบ่อยๆ ปวดตา ตาล้า สู้แสงสู้ลมไม่ได้ ตามัว น้ำตาไหลบางครั้ง ต้องกระพริบตาบ่อยๆ ใช้คอมพิวเตอร์นานๆ แล้วปวดหัวปวดตา ใส่คอนแทคเลนส์แล้วมีตาอักเสบบ่อยๆ
ถ้าคุณมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรจะไปตรวจกับจักษุแพทย์ ว่าคุณเป็นโรคตาแห้งหรือไม่
โรคตาแห้งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างไร
โรคตาแห้งทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เพราะเมื่อใช้สายตานานๆ เช่น จ้องจอคอมพิวเตอร์, แท็ปเล็ต หรือเล่น โทรศัพท์ ทำให้มีอาการแสบตา ระคายเคืองตา ดูภาพไม่ชัด บางครั้งต้องกระพริบตาบ่อยๆ โรคตาแห้ง เป็นสาเหตุทางตาที่สำคัญของ Digital Eye Strain (กลุ่มอาการจากการใช้คอมพิวเตอร์ หรือ DES)
อาการแสบตา สู้แสงสู้ลมไม่ได้ ทำให้อยู่ในห้องที่เปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศนานๆแล้วไม่สบายตา ตาแดง หรือระคายเคืองตา แสบตาเวลาขับรถ ถ้าเป็นผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ จะทำให้ระคายเคืองตาขณะใส่เลนส์ และมีโอกาสติดเชื้อที่กระจกตาได้ง่าย
โรคตาแห้งทำให้คุณภาพชีวิตลดลง โดยกลุ่มที่ตาแห้งปานกลาง มีคุณภาพชีวิตเทียบเท่ากับภาวะเจ็บหน้าอกขั้นปานกลาง (Moderate angina) ส่วนพวกที่ตาแห้งมากๆ อาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้ตาบอดได้
น้ำตาเทียมคืออะไร มีกี่ชนิด ใช้เป็นประจำแล้วมีอันตรายหรือไม่
น้ำตาเทียมเป็นสารหล่อลื่นที่มีคุณสมบัติช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวตา ทดแทนน้ำตาตามธรรมชาติที่มีไม่เพียงพอโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่มีสารกันเสีย (Preservatives) ทำให้ยามีอายุ 1 เดือนหลังเปิดใช้ และกลุ่มที่ไม่มีสารกันเสีย ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบสารละลายที่บรรจุในหลอดบรรจุขนาดเล็กที่ใช้ได้ภายใน 1 วัน
น้ำตาเทียมยังมีหลากหลายชนิดตามคุณสมบัติของ สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบ ซึ่งจะเหมาะกับภาวะตาแห้งที่ความรุนแรงและสาเหตุที่แตกต่างกัน
การใช้น้ำตาเทียมเป็นประจำ ไม่มีผลทำให้การหลั่งน้ำตาตามธรรมชาติลดลง แต่มีข้อจำกัดในการใช้ เช่น ถ้าเป็นชนิดที่มีสารกันเสีย ไม่ควรใช้บ่อยกว่า 4 ชั่วโมง เนื่องจากสารกันเสียอาจไปทำอันตรายผิวตา ทำให้ยิ่งใช้บ่อยยิ่งทำให้ระคายเคืองตามากขึ้น ซึ่งถ้าต้องการหยอดบ่อยๆ ควรใช้ชนิดที่ไม่มีสารกันเสีย เนื่องจากมีความปลอดภัยแต่มักจะมีราคาแพง
[Advertorial]