มีเสมหะในลำคอตลอดเวลา เสี่ยงโรคอันตราย

มีเสมหะในลำคอตลอดเวลา เสี่ยงโรคอันตราย

มีเสมหะในลำคอตลอดเวลา เสี่ยงโรคอันตราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รศ. นพ. ปารยะ   อาศนะเสน
สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา 
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

ถ้าท่านมีปัญหา สเลด หรือเสมหะในคอ (chronic secretion in the throat) ตลอด เป็นๆหายๆ เป็นเดือน หรือเป็นปี จะทำอย่างไรดี  บทความนี้มีคำตอบสเลด หรือ คือสารคัดหลั่งที่ร่างกายสร้างออกมา จากต่อมสร้างสารคัดหลั่ง ที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ  การที่มีเสมหะ หรือสเลดในคอเรื้อรัง อาจเกิดจากโรค หรือภาวะบางอย่างดังนี้

 

 1. โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) และจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (non-allergic rhinitis) 

750_1

เนื่องจากเยื่อบุของผู้ป่วยโรคนี้มีความไวผิดปกติ (hyperreactivity of nasal mucosa)  เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่างๆ จะกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในจมูก ซึ่งอาจไหลออกมาทางจมูกส่วนหน้า หรือไหลลงคอ(postnasal drip)  ซึ่งน้ำมูกที่ไหลลงคอ ก็จะกลายเป็นสเลด หรือเสมหะในคอนั่นเอง ซึ่งมักจะมีสีขาวใส หรือขุ่น  ยกเว้นเวลาเช้า เมื่อผู้ป่วยตื่นขึ้นมา อาจมีสีเหลืองขุ่นได้เนื่องจากมีการคั่งค้างของน้ำมูก หรือเสมหะ อยู่ในจมูก หรือคอเป็นระยะเวลานาน

 

 2. โรคไซนัสอักเสบ (rhinosinusitis) 

750_2

เนื่องจากโรคนี้มีการอักเสบของเยื่อบุจมูก และไซนัส  ซึ่งจะมีการกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูก ให้มีเสมหะไหลลงคอได้เหมือน ข้อ 1  นอกจากนี้สารคัดหลั่งที่ออกจากไซนัส อาจผ่านรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูกออกมา และไหลลงคอ กลายเป็นเสมหะได้ ซึ่งมักจะมีสีเขียว หรือเหลืองตลอดเวลา (มักบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อแบคที่เรีย)

 

 3. โรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease: GERD) 

750_3

เมื่อกรดไหลขึ้นมาที่คอหอยจากหลอดอาหาร จะกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอให้ทำงานมากขึ้น ทำให้มีเสมหะในลำคอได้  นอกจากนั้นกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาที่คอ จะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุลำคอ  ทำให้กลไกในการกำจัดเสมหะของเยื่อบุลำคอผิดปกติไป ทำให้มีเสมหะค้างอยู่ที่ลำคอได้  นอกจากนั้น ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอ และกล่องเสียง (laryngopharyngeal reflux) กรดไหลย้อนที่ออกไปนอกหลอดอาหาร อาจไปถึงเยื่อบุจมูกทางด้านบน และกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในโพรงจมูกให้ทำงานมากขึ้นทำให้มีน้ำมูก หรือมีเสมหะไหลลงคอได้

 

 4. การใช้เสียงผิดวิธี (muscle misuse dysphonia) 

การที่ใช้เสียงในการพูดมาก มักทำให้ผู้พูดต้องหายใจทางปาก คล้ายกับการออกกำลังกายให้เหนื่อย ซึ่งจะมีการหายใจทั้งทางจมูก และปาก   จมูกซึ่งมีหน้าที่ปรับอากาศที่หายใจเข้าไปให้ชื้น และอุ่นขึ้น  และกรองสารระคายเคืองต่างๆในอากาศก่อนเข้าสู่ลำคอ จึงไม่ได้ทำหน้าที่   ทำให้อากาศที่ผ่านลำคอ แห้ง และเย็น ร่างกายอาจปรับตัว โดยสร้างเสมหะในคอขึ้นมามากขึ้น เพื่อทำให้ผนังคอชุ่มชื้นขึ้น  นอกจากนั้น สารระคายเคืองต่างๆในอากาศ อาจเข้าไปสัมผัสกับลำคอโดยตรง และไปกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะให้ทำงานมากขึ้นได้

 

 5. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis) และโรคหืด (asthma) 

โรคทั้งสองดังกล่าวนี้ มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลม ทำให้เยื่อบุหลอดลมของผู้ป่วยโรคนี้มีความไวผิดปกติ (hyperreactivity of bronchial mucosa)  เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่างๆ จะกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในเยื่อบุหลอดลม ทำให้มีเสมหะในหลอดลม หรือคอตลอดได้

 

 6. การติดเชื้อเรื้อรังบริเวณคอ (chronic infectious pharyngitis) 

เช่นจากเชื้อรา, เชื้อวัณโรค, เชื้อซิฟิลิส, เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส  ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุลำคอ ซึ่งอาจกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอให้ทำงานมากขึ้น ทำให้มีเสมหะในลำคอได้ 

 

 7. การระคายเคือง และ/หรือการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณลำคอ (chronic irritative and/or traumatic pharyngitis) 

เช่น  การสัมผัสสารเคมี, มลพิษ, สารระคายเคือง เนื่องจากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารเคมี  มลพิษ หรือสารระคายเคืองมาก, การสูบบุหรี่, การดื่มเหล้า  เบียร์  หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, การไอ, การอาเจียนที่บ่อยและเรื้อรัง, เนื้องอกในลำคอ, พังผืด หรือแผลเป็นในลำคอ หรือแม้แต่การที่อยู่ในห้อง หรือสถานที่ที่มีอากาศเย็นมาก อาจทำให้เกิดการระคายเคือง หรือการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณลำคอ หรืออาจกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในคอ ให้ผลิตเสมหะออกมามากกว่าปกติได้

 

จะเห็นว่ามีสาเหตุที่ทำให้เกิดเสมหะในคอมากมาย  การรับประทานยาละลายเสมหะ จึงเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ซึ่งยาละลายเสมหะที่ดีที่สุดจริงๆแล้วคือน้ำ ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเสมหะในคอ ควรมาพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อซักประวัติ, ตรวจร่างกาย และส่งการสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของเสมหะในคอที่ถูกต้อง  ซึ่งการรักษาเสมหะในคอนั้น รักษาตามสาเหตุ

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook