สุ่มตรวจขนมจีน 17 ยี่ห้อรอบ 2 ยังพบสารกันบูดปนเปื้อน 100%

สุ่มตรวจขนมจีน 17 ยี่ห้อรอบ 2 ยังพบสารกันบูดปนเปื้อน 100%

สุ่มตรวจขนมจีน 17 ยี่ห้อรอบ 2 ยังพบสารกันบูดปนเปื้อน 100%
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

งานเข้าสำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ กันอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบเมนูขนมจีนน้ำยา หรือตำซั่วใส่ขนมจีน เมื่อศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบสารกันบูดตกค้างในขนมจีนรอบสอง 100% ทั้ง 17 ตัวอย่างปนเปื้อนสารกันบูด โดยมี 2 ตัวอย่าง คือ สธจ โรงงานโสธรเจริญ และชลนิศา พบปริมาณการตกค้างสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เคยทดสอบสารกันบูดรอบแรกเมื่อปี 2559 ผลทดสอบพบการปนเปื้อนของสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก 100 % ทั้ง 12 ตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่างที่พบปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้

จากการสุ่มตรวจสอบเส้นขนมจีนทั้งหมด 17 ยี่ห้อ ตามแหล่งซื้อต่างๆ โดยเก็บตัวอย่างเส้นขนมจีนที่เคยทดสอบเมื่อคราวที่แล้ว จำนวน 8 ตัวอย่าง และเพิ่มเติมตัวอย่างในการสุ่มทดสอบอีก 9 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 17 ตัวอย่าง พบว่า ขนมจีนทุกยี่ห้อมีการใส่สารกันบูด แต่มีขนมจีน 2 ยี่ห้อที่มีการใส่สารกันบูดเกินมาตรฐานสูงถึง 1274.55 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 381 พ.ศ.2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร กำหนดค่ามาตรฐานของสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) สำหรับอาหารจำพวกพาสต้า ก๋วยเตี๋ยว และผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกันว่า ต้องมีปริมาณไม่เกิน 1,000 มก./กก.

สำหรับภาพรวมของผลการทดสอบการปนเปื้อนของสารกันบูดในเส้นขนมจีนครั้งนี้พบว่าเส้นขนมจีนยังเป็นอาหารที่มีสารกันบูดตกค้าง และมีค่าเฉลี่ยของปริมาณสารดังกล่าวอยู่ที่ 450.53 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในการสุ่มทดสอบครั้งที่แล้วคือ 439.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

 kanom-jeen-2ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

สารกันบูดเท่าไร ถึงอันตรายต่อชีวิต?

น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในแต่ละวันร่างกายไม่ควรได้รับปริมาณสารกันบูดหรือวัตถุกันเสียเกินกว่า 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กก. เช่น หากน้ำหนักตัว 45 กก. ไม่ควรได้รับสารกันบูดเกิน 45x5 = 225 มิลลิกรัม/วัน เพราะการได้รับสารกันบูดมากเกินไปสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ คือ

  1. พิษเฉียบพลัน เมื่อได้รับปริมาณสูง เกิดอาการคลื่นไส้ หายใจไม่ออกและหมดสติในที่สุด

  2. พิษกึ่งเรื้อรังและพิษเรื้อรัง เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีสารกันบูดในปริมาณไม่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดการเป็นมะเร็งลำไส้ได้ รวมทั้งทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของตับและไตลดลง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

สำหรับอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตจะมีโทษปรับ 50,000 บาท หากยังพบว่าไม่มีการแสดงฉลากที่ครบถ้วนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ กำหนดให้ต้องแสดงข้อมูลการใช้วัตถุเจือปนอาหารลงในฉลาก โดยหากไม่ติดฉลากหรือฉลากไม่ครบถ้วน มีโทษปรับ 30,000 บาท

ศูนย์ทดสอบนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้อย.เร่งดำเนินการตรวจสอบและเปรียบเทียบปรับโรงงานผลิตขนมจีน  และผู้จัดจำหน่วยอาหารผิดมาตรฐาน และควบคุมเรื่องภาชนะบรรจุที่ไม่ได้มาตรฐาน  การแสดงฉลากสินค้าที่ไม่ครบถ้วนชัดเจน อย่างจริงจังเพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานและมีความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook