น้ำมันมะกอก อาจไม่ได้มีราคาแพงอย่างที่คิด
เมื่อเทรนด์อาหารสุขภาพกำลังมาแบบนี้ น้ำมันที่เป็นหนึ่งในเครื่องปรุงอาหารชั้นดีจึงต้องเลือกอย่างพิถีพิถันด้วย หลายคนจึงเลือกที่จะใช้น้ำมันมะกอกทำอาหาร แต่ก็ยังมีหลายคนที่ยังทำใจใช้น้ำมันมะกอกประกอบอาหารไม่ได้ ด้วยราคาหลายร้อยบาทต่อขวด เมื่อเทียบกับน้ำมันพืชปกติที่อยู่ในหลักสิบแล้ว มันก็อยากแก่การต้องจ่ายเงินออกไป แม้จะรู้ดีว่าควรลงทุนเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นก็ตาม
แต่จริงๆ แล้ว หากคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อจาน จะรู้เลยว่าน้ำมันมะกอกไม่ได้แพงมากขนาดนั้น
น้ำมันมะกอก แพงจริงหรือ?
ราคาเฉลี่ยของน้ำมันมะกอกที่วางขายในท้องตลาดอยู่ที่ประมาณ 350-450 บาท ต่อขวด ตามแต่ขนาด โดยเฉลี่ยแล้วน้ำมันมะกอกขนาด 1 ลิตร จะสามารถทำอาหารได้ประมาณ 68 ครั้ง หรือ คิดเป็นจำนวนจานอาหารได้ถึง 272 จาน เมื่อใช้ครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ และหากคำนวณถึงการทำอาหาร 1 มื้อ สำหรับ 1 คน จะเฉลี่ยตกที่มื้อละเพียง 1.6 บาท โดยหากเปรียบเทียบกับการสั่งเครื่องดื่มคู่กับมื้ออาหารแล้ว ราคาเครื่องดื่มจะอยู่ที่ประมาณ 15-20 บาท ซึ่งนับว่าน้ำมันมะกอกยังราคาถูกกว่าเครื่องดื่มที่เราสั่งคู่กับอาหารก็ว่าได้
ดังนั้น คงไม่แพงเกินไป หากเราจะลองจ่ายมากขึ้นสักเล็กน้อย เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้แก่อาหารไทยเมนูต่างๆ ที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน
ทำไมน้ำมันมะกอกถึงดีต่อสุขภาพ?
น้ำมันมะกอกนั้นมีส่วนประกอบของไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูงกว่าน้ำมันประกอบอาหารประเภทอื่นๆ อยู่มาก และสามารถช่วยลดระดับของ LDL ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ยังเหมาะแก่ผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยลดอัตราเสี่ยงของโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง และมะเร็งเต้านม
น้ำมันมะกอกไม่เพียงแต่เป็นน้ำมันสำหรับปรุงอาหาร แต่ยังเป็นทางเลือกของสุขภาพที่นำมาปรับใช้ในชีวิตได้ ง่ายและราคาไม่แพง ทั้งยังช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ จากภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งนับว่าถูกกว่าค่ายาจากการรักษาโรคต่างๆ เหล่านั้นซะอีก
iStock
ทานไขมัน (ดี) อย่างไรให้พอดีกับสุขภาพ
ไขมันที่เหมาะสมสำหรับคนไทยจะเฉลี่ยอยู่ที่ 50-70 กรัมต่อวัน (คำนวณจากความต้องการพลังงาน 1,500-2,000 กิโลแคลลอรี่ต่อวัน) การได้รับไขมันมากกว่าปริมาณที่แนะนำนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการมีระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้นหรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นก็ได้ การบริโภคไขมันให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมสามารถทำได้ โดยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- รับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันหรือหนัง เพราะการมีส่วนของมันและหนังติดกับเนื้อสัตว์ จะเพิ่มไขมันได้ราวๆ 2-5 กรัมต่อปริมาณเนื้อสัตว์ที่บริโภค 1 ช้อนโต๊ะเลยทีเดียว จึงควรรับประทานแต่ส่วนเนื้อ
- กำหนดปริมาณน้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหารและบริโภค ที่เฉลี่ย มื้อละ 1 ช้อนโต๊ะต่อคน ซึ่งน้ำมันที่แนะนำ คือ น้ำมันมะกอก เช่น เมนูหมูผัดกระเทียม สามารถทำได้โดยใช้น้ำมันมะกอกเพียง 1 ช้อนโต๊ะ และหากรู้สึกว่าแห้งไป ให้เติมน้ำสต๊อกลงไปเล็กน้อย แต่อย่าเติมอะไรที่เป็นไขมันลงไปเพิ่มอีก
- ใช้อุปกรณ์ในการปรุงอาหารจำพวกที่เคลือบสารกันติด หรือเรียกง่ายๆ ว่า เทฟลอน เพราะจะช่วยให้การปรุงอาหารได้ง่ายขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันปริมาณมากเกินไป เพราะเทฟลอนช่วยให้อาหารไม่ติดกระทะ
iStock
แทนที่จะซื้ออาหารคลีนตามท้องตลาดทานอยู่เป็นประจำ ลองแบ่งเวลาเล็กน้อยมาสนุกกับการเตรียมอาหารทานเองดูบ้างก็ดีนะคะ และอย่าลืมลองเปลี่ยนน้ำมันที่บ้านเป็นน้ำมันมะกอก รับรองว่าสุขภาพดีขึ้น รสชาติอาหารก็เยี่ยม ต้ม ผัด แกง ทอด หรือทานสดก็ได้ทุกอย่าง เพียงแต่ต้องเลือกชนิดของน้ำมันมะกอกให้เหมาะสมกับวิธีการปรุงอาหารด้วย