“นอนกรน” เพิ่มความเสี่ยงเป็น "อัลไซเมอร์" ได้
ใครที่ชอบนอนกรน อย่ามองข้ามอาการนี้เป็นอันขาด เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดในสหรัฐอเมริกา พบว่า การนอนหลับที่มีภาวะหยุดหายใจชั่วคราว หรือถูกขัดจังหวะในระหว่างการนอนจนทำให้เกิดการกรนนั้น มีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาไปสู่การเป็นอัลไซเมอร์ได้
โดยผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีปัญหาในการนอนหลับ มักจะสูญเสียการทำงานในส่วนของความคิดหรือความทรงจำไป ขณะเดียวกัน หากมียีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ที่เรียกว่า APOE -ε4 allele ร่วมด้วย ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงในการพัฒนาสู่การเป็นอัลไซเมอร์มากขึ้น
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่าง 1,752 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 68 ปี ด้วยการให้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับรูปแบบการนอนหลับของตัวเอง จากนั้นมาประเมินผลด้านการจดจำและการรับรู้ พบว่าผู้ที่มีปัญหาในการนอนกรนเสียงดัง หายใจลำบาก หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ จะเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคสมองเสื่อมได้
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบด้วยว่า ภาวะที่เลือดขาดออกซิเจนในช่วงกลางคืน และภาวะที่มีอาการง่วงในช่วงกลางวัน ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับความจำและความสนใจต่างๆ ที่ถดถอยลง อีกทั้งยังทำให้คิดช้าลง และมีสมาธิน้อยลงด้วย