เตือน! พบเด็กเป็นโรค “มือ เท้า ปาก” เดือนเดียว 12,000 ราย
กรมควบคุมโรค เตือนพ่อแม่-ครูดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด หลังปีนี้พบเด็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปากจำนวนมาก เฉพาะเดือน มิถุนายน พบผู้ป่วยมากถึง 1.2 หมื่นราย คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ป่วยครึ่งปีแรก ขอความร่วมมือสถานศึกษา คัดกรองเด็กนักเรียน ให้มากขึ้นในช่วงหน้าฝนนี้ หากพบเด็กป่วยให้แจ้งผู้ปกครองมารับและนำเด็กไปรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการระบาดและลดการแพร่กระจายเชื้อ
นายเเพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงเปิดเทอม สถานศึกษาเป็นแหล่งที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ประกอบกับฤดูนี้เป็นฤดูฝน ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะ โรคมือ เท้า ปาก
จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 17 ก.ค. 60 พบผู้ป่วยแล้ว 37,943 ราย เสียชีวิต 2 ราย เฉพาะเดือนมิถุนายนในปีนี้ พบผู้ป่วยถึง 12,226 ราย หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ ซึ่งพบมากในเด็กอายุ 1 ปีมากที่สุด รองลงมาคือ 2ปี และ3 ปี คิดเป็นร้อยละ 26 , 24 และ 18 ตามลำดับ โดยผู้เสียชีวิต 1 ใน 2 ราย เสียชีวิตด้วยเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71: EV71) ซึ่งมีความรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าสายพันธุ์ทั่วไป
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากอะไร?
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด แต่ชนิดที่รุนแรงมาก คือ เอนเทอโรไวรัส 71 (EV71) การติดต่อของโรคเกิดจากการได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนในจากอุจจาระ หรือฝอยละออง น้ำมูกน้ำลาย น้ำในตุ่มพอง หรือแผลของผู้ป่วยเข้าสู่ปาก การติดต่อทางน้ำหรืออาหารมีโอกาสเกิดได้น้อย โดยเด็กที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อนี้ มักไม่แสดงอาการ เช่น ไม่มีผื่นที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าให้เห็นชัดเจน ทำให้ไม่ทราบว่าป่วย และยังมีผลต่อระบบประสาทและสมอง จึงทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ง่าย
โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อกันได้อย่างไร
โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการ ไอ จาม รดกัน โรคนี้อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ซึ่งหายได้เอง ใน 7-10 วัน ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ได้อย่างไร?
- มีระบบคัดกรองเด็กทุกเช้าก่อนเข้าเรียน หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา และแจ้งผู้ปกครองมารับเด็กกลับและให้พักฟื้นจนกว่าจะหายเป็นปกติ
- สอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ และจัดให้มีจุดล้างมือ พร้อมสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นส่วนรวมเป็นประจำ
- หากพบเด็กป่วยเป็นจำนวนมาก ควรพิจารณาปิดสถานศึกษาเพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ
- ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับโรคแก่นักเรียนและผู้ปกครอง
สำหรับผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ร่วมกับแผลในปาก โดยอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าก็ได้ ในบางรายอาจมีเฉพาะไข้ ควรรีบพาไปพบแพทย์และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ