สุรามาเป็นระยะ ซัดดะนะ ตับวาย ตายแน่นอน!!!
"การดื่มสุราทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง" เป็นประโยคที่ได้ยินกันบ่อยๆ จนแทบจะชินหูและชินความรู้สึกกันไปแล้วก็ได้ว่า เมื่อเหล้าเข้าปาก อย่างมากก็แค่..ขับรถเป๋..นิดหน่อย
แต่ความจริงมันร้ายกาจกว่านั้นมากก ก..ก... (ก ไก่ ล้านตัว) เพราะทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า การดื่มสุราเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิต ทั้งผลเสียอย่างแน่นอนกับระบบความจำ ระบบประสาท ระบบเลือด ความดัน สมอง และที่ส่งผลโดยตรงต่ออวัยวะในร่างกายคือ "ตับ" หนึ่งในมหันตภัยที่ทำร้ายร่างกายของมนุษย์ได้อย่างเงียบๆแต่ผลเสียเพียบกันเลยก็ว่าได้
อันว่าสุรายาเมานั้นมีหลายประเภท ลองยกตัวอย่างวิธีคำนวณปริมาณแอลกอฮอล์ของเครื่องดื่มหลายๆชนิด เช่น เบียร์ 100 มิลลิลิตร มีแอลกอฮอล์ประมาณ 4 กรัม การดื่มเบียร์ประมาณ 1 กระป๋อง จะทำให้เราได้รับแอลกอฮอล์ประมาณ 13 กรัม หรือ ถ้ารับประทานไวน์ 1 แก้ว (100 มิลลิลิตร) มีปริมาณแอลกอฮอล์ 12 กรัม แต่สำหรับเครื่องดื่มที่เป็นวิสกี้นั้น มีปริมาณแอลกอฮอล์ 40 กรัม ต่อ วิสกี้ 100 มิลลิลิตร การดื่มวิสกี้ประมาณ 2 ฝา จะให้แอลกอฮอล์ประมาณ 15 กรัม ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า จะเลี่ยงไปดื่มไวน์ในร้านไฮโซหรือเหล้าขาวอาโกปากซอย สุดท้ายก็คือการอัญเชิญปริมาณแอลกอฮอล์เข้าสู่ตับของผู้ดื่มในระดับใกล้เคียงกัน ในทางการแพทย์ถือว่าการรับประทานแอลกอฮอล์ 12 - 15 กรัม เท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ 1 หน่วย จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าวันละ 5 หน่วย หรือ 80 กรัม ติดต่อกันเป็นเวลาหลายๆปี มักมีปัญหา “ตับถูกทำลาย” !!
ซ้ำร้ายคือเซลล์ตับเป็นเซลล์พิเศษเหมือนไตและปอด คือ ธรรมชาติสร้างเผื่อไว้ถึง 3 เท่า เพื่อสำรองไว้ใช้ในยามแก่ แม้ตับจะฉีกหายไปครึ่งหนึ่ง ก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่การดื่มเหล้าเป็นการทำลายเซลล์สำรองเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ โดยจะทำลายไปทีละน้อย จนกระทั่งเซลล์ตับเหลือน้อยกว่า 40% จึงจะเริ่มมีอาการ และถ้าน้อยกว่า 25% ตับจึงจะวาย คนที่ตับแข็งส่วนใหญ่จึงไม่รู้ตัวว่าป่วย จนกว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนปรากฏให้เห็น ซึ่งนั่นหมายถึงระยะที่อาการของโรคลุกลามไปมากแล้ว
ไปดูพัฒนาการในด้านลบของโรคตับกันดูบ้าง ว่าหลังจากดื่มติดต่อกันนานๆจะเกิดอะไรขึ้น
1. ไขมันสะสมในตับ (Alcoholic fatty liver) เป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการใดๆ แต่ถ้าตรวจร่างกายอาจพบว่าตับมีขนาดใหญ่ ผิวเรียบ นุ่ม และกดไม่เจ็บ การตรวจเลือดอาจพบความผิดปกติเล็กน้อย ถ้าผู้ป่วยในระยะนี้หยุดดื่มสุรา ตับจะสามารถกลับเป็นปกติโดยไม่มีพยาธิสภาพตกค้างอยู่แต่อย่างใด
2. ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Hepatitis) ผู้ป่วยในระยะนี้ อาจมาพบแพทย์ได้ด้วยอาการน้อยๆ เช่น จุกแน่นที่บริเวณชายโครงด้านขวา ไปจนถึงมีอาการรุนแรง เช่น อาการดีซ่าน ไข้สูง มีการเปลี่ยนแปลงทางสติสัมปชัญญะ ไปจนถึงอาการตับวายได้ บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการทางสมอง ได้แก่ อาการสับสน วุ่นวาย หรือ อาจหมดสติได้ จะเป็นกลุ่มผู้ที่มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง มักจะมีภาวะขาดสารอาหารและไวตามิน
การตรวจร่างกายในระยะนี้มักพบว่าตับจะมีขนาดใหญ่และกดเจ็บ เนื้อของตับเริ่มจะแข็งกว่าระยะแรก การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการจะพบความผิดปกติของการทำงานของตับได้อย่างชัดเจน ผู้ซึ่งหยุดดื่มเหล้าในระยะนี้ ส่วนใหญ่แล้วมักจะอาการดีขึ้นและอาจกลับเป็นปกติได้
3. ตับแข็งจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Cirrhosis) น่าจะเรียกได้ว่าผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพราะถึงขนาดมีผังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับ ผิวตับไม่เรียบ ขรุขระเป็นก้อน และมีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยในระยะนี้มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการดีซ่าน ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือดสดๆ เนื่องจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตก มีภาวะทุกขโภชนาการ กล้ามเนื้อลีบ มีเส้นเลือดขยายตามผิวหนังในส่วนบริเวณอก หลัง และริดสีดวงทวาร อาจตรวจพบว่ามีการฝ่อของลูกอัณฑะ และความสามารถทางเพศลงลด รวมทั้งมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งของตับ ผู้ที่หยุดดื่มในระยะนี้ตับจะมีการเสียหายอย่างถาวร การหยุดดื่มจะช่วยป้องกันมิให้เกิดการเสียหายเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถกลับเป็นตับปกติได้อีก
เมื่อทราบดีกันแล้วว่า “ทุกครั้งที่ดื่มเหล้า เท่ากับเรากำลังทำร้ายตับ” ถ้ายังไม่สามารถเลิกได้โดยเด็ดขาดหรือเลิกได้ในทันที “การพักดื่ม” จึงเท่ากับ “การพักตับ” และนั่นหมายถึงการเปิดโอกาสให้ตับได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเอง อย่างน้อยก็ในช่วงเข้าพรรษาสามเดือนนี้
ต้องการข้อมูลหรือคำปรึกษา โทรมาหาเราที่สายด่วนปรึกษาเลิกหล้า 1413
[Advertorial]