ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง “งูกัด” ต้องทำอย่างไร
ช่วงหน้าฝน เรามักเห็นข่าวงูเข้าบ้านคนอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในโถชักโครกหรือตามพื้นที่รกบริเวณบ้าน ซึ่งบางคนอาจโชคร้ายถูกงูฉกหรือกัดจนได้รับบาดเจ็บ และบางคนก็อาจโชคร้ายรับการรักษาไม่ทันท่วงทีจนเสียชีวิตได้ แต่ถ้าเรารู้จักวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก็สามารถช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
อย่างไรก็ตาม การปฐมพยาบาลต้องทำให้ถูกวิธีด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็อาจทำให้พิษงูเข้าสู่กระแสเลือดได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
พิษงูในประเทศไทย
สำหรับงูพิษในประเทศไทยนั้น แบ่งเป็น 4 ประเภทด้วยกัน
1.พิษต่อระบบประสาท (งูเห่า, งูเห่า, งูจงอาง, งูสามเหลี่ยม, งูทับสมิงคลา)
2.พิษต่อระบบเลือด (งูแมวเซา, งูกะปะ, งูเขียวหางไหม้)
3.พิษต่อกล้ามเนื้อ (งูทะเล)
4.พิษอ่อน (กลุ่มงูพิษเขี้ยวหลัง )
แพทย์ไม่แนะนำวิธี “ขันชะเนาะ”
ทั้งนี้ ความเข้าใจที่มีกันมา และได้รับการยอมรับในอดีต คือ การขันชะเนาะ ด้วยการใช้ผ้ารัดเหนือแผลให้แน่น และคลายออกทุก 15 นาที แต่ปัจจุบันแพทย์ไม่แนะนำให้ทำ เพราะส่วนใหญ่ทำไม่ถูกวิธี หากรัดแน่น และนานจนเกินไป จะส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะไม่ทัน ทำให้เนื้อตายจากการขาดเลือดได้
สัตวแพทย์หญิง ดอกเตอร์ลาวัณย์ จันทร์โฮม หัวหน้าสวนงู สถานเสาวภา สภากาชาดไทยแนะนำว่า ควรใช้แค่ผ้าพันเคล็ดสำหรับนักกีฬา พันทับต่ำกว่าบาดแผลให้สูงขึ้นมาเหนือบาดแผล โดยให้พันแน่นหรือตึงพอประมาณ และดามไว้ เพื่อเป็นการชะลอพิษงูให้เข้าสู่กระแสเลือดช้าลง
วิธีดูแลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล
ด้านสำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะนำวิธีการดูแลรักษาคนเจ็บก่อนมาถึงโรงพยาบาล เพื่อเป็นการชะลอการแทรกซึมของพิษงูไว้ดังนี้
- พยายามให้บริเวณที่ถูกงูกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด โดยเฉพาะอวัยวะส่วนที่ถูกงูกัด ซึ่งจะชะลอการซึมของพิษงูเข้าสู่ร่างกายได้
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ห้ามกรีด ตัด ดูด จี้ไฟ หรือพอกยาบริเวณแผลที่ถูกงูกัด เนื่องจากอาจทำให้มีการติดเชื้อได้ และการดูดแผลงูกัด อาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้ดูดพิษได้
- นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด และนำงูที่กัดมาด้วยถ้าเป็นไปได้ แต่หากหาไม่เจอ ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาตามหางูแต่อย่างใด
ภาพจาก สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
ไม่จำเป็นต้องให้ “เซรุ่ม” แก้พิษทุกราย
สำหรับการให้เซรุ่มแก้พิษงูนั้น ปัจจุบัน สถานเสาวภาผลิตเซรุ่ม แก้พิษงูชนิดแห้งทั้งหมด 7 ชนิด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เซรุ่มที่ต้านพิษงูระบบประสาท 4 ชนิด ได้แก่ เซรุ่มแก้พิษงูจงอาง เซรุ่มแก้พิษงูเห่า เซรุ่มแก้พิษงูสามเหลี่ยม เซรุ่มแก้พิษงูทับสมิงคลา และเซรุ่มที่ต้านพิษงูระบบเลือด 3 ชนิดคือ เซรุ่มแก้พิษงูกะปะ เซรุ่มแก้พิษงูเขียวหางไหม้ และเซรุ่มแก้พิษงูแมวเซา
อย่างไรก็ตาม แพทย์ไม่จำเป็นต้องให้เซรุ่มแก้พิษงูแก่ผู้ป่วยที่ถูกงูพิษกัดทุกราย แต่จะพิจารณาให้เฉพาะในรายที่ผู้ป่วยมีอาการซึ่งบ่งว่าพิษงูเข้าสู่กระแสเลือดเท่านั้น โดยมีข้อสังเกตดังนี้
1.งูที่มีพิษต่อระบบประสาท ให้เมื่อมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเริ่มแรกคือหนังตาตก
2.งูที่มีพิษต่อระบบเลือด ให้เมื่อมีภาวะเลือดออกผิดปกติหรือ VCT นานกว่า 20 นาที หรือมีภาวะไตวายเฉียบพลัน ในรายที่ถูกงูแมวเซากัด