หมาแมวที่ไม่ได้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ก็ยังเสี่ยงทำให้เราเสียชีวิตได้
พฤติกรรมที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ ในสังคมไทย คือการที่มีเจ้าหมาน้อย เหมียวน้อย เข้ามาเดินป้วนเปี้ยน หรือคลอเคลียใกล้ๆ เราตามร้านอาหารข้างทาง จนบางทีเราก็ทนความน่ารักของพวกมันไม่ไหว จนต้องเข้าไปให้อาหาร ลูบหัวลูบตัวกันไป หรือแม้กระทั่งหมาแมวของเรา หรือของเพื่อนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาเป็นดิบดี ก็ยังเสี่ยงอันตรายจนถึงขั้นทำให้เราเสียชีวิตได้เลยทีเดียวนะ
ที่ประเทศญี่ปุ่นมีรายงานว่า หญิงวัย 51 ปี ป่วยหนักจนเสียชีวิต หลังจากถูกแมวจรจัดที่กำลังป่วยอยู่กัดเข้า ระหว่างที่เธอพยายามอุ้มน้องแมวไปส่งที่โรงพยาบาล โดยเธอไม่ได้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างที่เราคาดการณ์กันเอาไว้ และเธอไม่ได้ติดเชื้อไวรัสจากน้องแมวโดยตรง แต่เป็นการติดเชื้อไวรัสจาก “เห็บ” ที่อาศัยอยู่ภายใต้ขนอันนุ่มปุกปุยของน้องแมว และกัดน้องแมวจนทำให้ป่วยนั่นเอง และคุณป้าไม่ได้ถูกเห็บกัดด้วยนะ แต่โดนน้องแมวที่ป่วยจากการถูกเห็บกัด มากัดเข้าอีกที
อาการของคุณป้า คือเริ่มมีไข้สูง คลื่นไส้ ง่วงซึม และเกล็ดเลือดต่ำ จนมีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ หลังจากโดนแมวจรจัดกัดไปได้ 10 วัน เธอก็เสียชีวิต เธอติดเชื้อไวรัส SFTS (Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome) จากเห็บหมัด แต่คณะแพทย์ชันสูตรศพไม่พบว่ามีรอยกัดจากเห็บ แพทย์จึงวินิจฉัยได้ว่า เป็นการติดเชื้อไวรัส SFTS จากแมวที่ป่วยจากการโดนเห็บหมัดกัดเข้าอีกที ซึ่งนับว่าเป็นการพบการติดเชื้อ SFTS จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาสู่คนเป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย
iStock
ทั้งนี้ เชื้อไวรัส SFTS เป็นเชื้อไวรัสที่พบการติดเชื้อในมนุษย์เมื่อไม่นานมานี้ โดยพบในประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ สำหรับประเทศญี่ปุ่น มีการพบการติดเชื้อครั้งแรกในปี 2013 โดยพบผู้ติดเชื้อ 266 ราย และเสียชีวิตมากถึง 57 ราย
เพราะฉะนั้นนอกจากจะต้องระมัดระวังในการเข้าช่วยเหลือหมาแมวจรจัดกันมากขึ้นแล้ว โดยอาจสวมถุงมือก่อนเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนหมาแมวที่บ้านที่เราเลี้ยงอยู่ ก็ควรหมั่นทำความสะอาด กำจัดเห็บหมัดออกไปด้วย เพราะจริงๆ แล้วนอกจากหมาแมวที่ป่วยจะกัดเรา แล้วเราติดเชื้อไปด้วยแล้ว ตัวของเห็บหมัดเองก็กัดคนได้เหมือนกัน