ทำไมวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ต้องฉีดให้เด็ก ป.5?

ทำไมวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ต้องฉีดให้เด็ก ป.5?

ทำไมวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ต้องฉีดให้เด็ก ป.5?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่รัฐบาลอนุมัติให้เด็กไทยเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีนการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papiloma Virus) ได้ฟรีจนถึงอายุ 11 ปี คนที่มีความรู้เรื่องของเชื้อไวรัส HPV อยู่แล้วก็ดีใจกันถ้วนหน้าว่าต่อไปนี้บุตรหลานของพวกเขาจะได้รับวัคซีนนี้ฟรีๆ จากที่ราคาเต็มเหยียบหมื่นต่อเข็ม (และต้องฉีดซ้ำมากกว่า 1 ครั้งด้วย)

แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะตัวเด็กเอง อาจไม่เข้าใจว่าทำไมต้องฉีดกันตั้งแต่เด็กขนาดนี้ ไม่ฉีดได้ไหม เรามาทำความรู้จักวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV หรือโรคมะเร็งปากมดลูกกันให้ดีขึ้นอีกนิดดันดีกว่าค่ะ

มะเร็งปากมดลูก อันตรายมากแค่ไหน ?

ขึ้นชื่อว่ามะเร็ง ไม่มีมะเร็งชนิดไหนที่อันตรายน้อยแน่ๆ แต่สำหรับมะเร็งปากมดลูกแล้ว เป็นมะเร็งอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตหญิงไทยไปในแต่ละปี (มะเร็งอีกชนิดหนึ่งคือ มะเร็งเต้านม) สาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papiloma Virus) โดยการติดเชื้อมักผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ติดเชื้ออยู่แล้วนั่นเอง

วัคซีน HPV คืออะไร ?

วัคซีน HPV หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นวัคซีนที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่ย่อมาจาก Human Papilloma Virus ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง โดยทำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณปากมดลูกและสามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็งได้

ไวรัส HPV มีกี่สายพันธุ์ ?

ปกติแล้วไวรัส HPV มีมากกว่า 40 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยสายพันธุ์หลักๆ ที่พบได้บ่อยมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 มีวัคซีนที่ชื่อ Cervarix ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากถึง 70% ส่วนวัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ 16 และ 18 รวมถึงป้องกันโรคหูดที่จะเกิดกับอวัยวะเพศได้อีก 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 6 และ 11 มีชื่อว่า Gardasil โดยสามารถป้องกันได้ถึง 95% ส่วนการวินิจฉัยว่าควรจะได้รับวัคซีนชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์

ทำไมต้องฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ?

จริงๆ ต้องถามก่อนว่าทำไมถึงไม่อยากฉีด ในเมื่อวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตหญิงไทยอันดับต้นๆ ของทุกปี ยิ่งตอนนี้เด็กๆ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ฟรี ทำไมถึงไม่อยากให้ฉีด คำตอบภายในใจของหลายคนอาจจะมีต่างกัน บ้างก็กลัวว่าจะมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอันตรายกับร่างกาย บ้างก็กลัวเข็ม หรืออาจจะไม่เห็นความสำคัญว่าจะฉีดไปทำไม คิดว่าตัวเองน่าจะไม่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูกแน่ๆ

อันที่จริงแล้ว หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HPV จนเป็นมะเร็งปากมดลูก คือการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ติดเชื้อ โดยคนๆ นั้นอาจเป็นแฟน แฟนเก่า แฟนปัจจุบัน แฟนใหม่ หรือบางคนอาจมีเพศสัมพันธ์กับสามีที่ถูกต้องตามกฎหมายแค่คนเดียว ก็ยังเสี่ยงติดเชื้อ HPV ได้ เพราะเราอาจจะรู้ตัวดีว่าเราไม่เสี่ยง แต่คนที่เรามีเพศสัมพันธ์ด้วยล่ะ เสี่ยงมากแค่ไหน นอกจากนี้การใช้ถุงยางอนามัยยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ 100% เช่นกัน

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV

วัคซีนทั่วไปเกือบทุกชนิด อาจให้ผลข้างเคียงกับร่างกายของผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ แต่ก็ไม่ได้มีอาการไปเสียทุกคน โดยอาการที่เกิดขึ้นมีเพียงเล็กน้อย เช่น อาจมีอาการปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีด เจ็บ มีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว แต่ไม่ได้มีอันตรายใดๆ ไปมากกว่านั้น อาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน

vaccinesiStock

ทำไมต้องฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ให้เด็ก ป.5 ?

ผู้หญิงทุกคนที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ควรได้รับพิจารณาให้ได้รับวัคซีนตัวนี้ ซึ่งขึ้นทะเบียนให้ใช้ในเด็ก ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ จนกระทั่งถึงผู้ใหญ่อายุ 26 ปี ในการฉีดวัคซีนถ้าฉีดก่อนอายุ 15 ปีฉีดเพียง 2 เข็ม คือห่างกัน 6 เดือน แต่ถ้าฉีดหลังอายุ 15 ปีต้องฉีด 3 เข็ม ถ้าฉีดวัคซีนก่อนมีเพศสัมพันธ์ วัคซีนนี้จะมีประสิทธิภาพป้องกันได้ดีที่สุด  แต่ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็สามารถฉีดได้ แต่ประสิทธิภาพอาจจะลดลงไป ได้ผลดีไม่เท่ากับผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์

โตแล้ว ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้หรือไม่ ?

หากยังไม่มีเพศสัมพันธ์ก็ฉีดได้ แต่หากมีเพศสัมพันธ์แล้วควรทำการตรวจดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) เพื่อหาเชื้อไวรัส HPV ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน

ผู้ชาย ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้หรือไม่ ?

สำหรับผู้ชาย ก็ควรฉีดด้วย เพราะวัคซีนนี้ยังป้องกันมะเร็งอวัยวะเพศของผู้ชายได้ดีด้วย และยังช่วยลดการติดต่อเชื้อ HPV ไปยังผู้หญิง

ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV แล้ว ก็ไม่ต้องตรวจภายในแล้วสิ ?

แม้ว่าวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกจะมีประสิทธิภาพป้องกันได้สูง 70 – 90% แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องป้องกันโดยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การไม่มีคู่นอนหลายคน และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) เป็นระยะ เพราะเมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัส HPV เข้าไปแล้ว เชื้อไวรัสจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเซลล์ของปากมดลูกกลายเข้าสู่ระยะมะเร็ง ดังนั้นหากเรามีการตรวจพบระยะที่เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว เราไปจี้ทำลายรอยโรคตรงนั้นก่อนที่จะกลายไปเป็นมะเร็ง ก็จะสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งได้ วิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีที่ได้ผลดีซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีน

เมื่อใดที่วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะให้ผลสูงสุด

โดยทั่วไปแล้ว วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะให้ผลการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อมีการฉีดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในชีวิต เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายยังไม่มีการติดเชื้อเอชพีวีจากการร่วมเพศมาก่อน

การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในสหรัฐอเมริกาจะแนะนำให้เริ่มฉีดตั้งแต่อายุ 9 - 12 ปี เพราะเป็นช่วงที่ยังไม่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์อย่างแน่นอน ส่วนผู้หญิงในวัย 13 - 26 ปี ไม่จะเคย หรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วก็สามารถฉีดได้ แต่ประสิทธิภาพการป้องกันอาจลดลง ขึ้นอยู่กับว่าเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหน้านั้นหรือไม่ ส่วนผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 26 ปีขึ้นไป ยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดว่าเมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปแล้วจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้มากน้อยเพียงใด อยู่ในช่วงของการศึกษา แต่น่าจะให้ผลการป้องกันต่ำกว่าผู้หญิงในวัยที่อายุน้อยกว่า 26 ปี

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook