พฤติกรรมเสี่ยง “ไขมันพอกตับ” ภัยเงียบที่กว่าจะรู้ตัวก็อาจสายเกินไป
โรคภัยไข้เจ็บถามหาเรากันได้ง่ายมากขึ้น เร็วมากยิ่งขึ้น ยิ่งโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน ยิ่งพบเจอได้ง่าย ตรวจสุขภาพทีก็ต้องมานั่งลุ้นว่าคอเลสเตอรอลจะเกินไหม ไตรกลีเซอไรด์จะพุ่งหรือเปล่า โดยเฉพาะค่าน้ำตาลในเลือดที่อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อสารพัดโรค ซึ่งนอกจากเบาหวานแล้ว ยังมีอีกโรคหนึ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กัน คือ “ไขมันพอกตับ”
ไขมันพอกตับ คืออะไร?
หากอธิบายง่ายๆ คือการที่พบไขมันเกาะอยู่ที่ตับด้านนอก โดยไขมันที่ว่าจะมาจากปริมาณน้ำตาลที่สูงเกินกว่าปกติในร่างกาย ที่ตับสร้างออกมา เป็นภาวะที่ตับทำงานผิดปกติที่ทำให้มีไขมันเกาะตัวอยู่ที่เนื้อตับ
พฤติกรรมเสี่ยงภาวะไขมันพอกตับ
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรืออยู่ในเกณฑ์อ้วน
- ผู้ที่ทานอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมัน (เลว) สูงเป็นประจำ เช่น ขนมจากร้านเบเกอรี่ น้ำอัดลม อาหารทอด อาหารมัน เป็นต้น
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้อยู่แล้ว ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
- อยู่ในวัยกลางคน อายุ 45-50 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการเผาผลาญพลังงานน้อยลง
- ขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ จึงทำให้มีการเผลาผลาญพลังงานน้อยลง
- ทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ และยาในกลุ่มที่เป็นฮอร์โมนทดแทน
- ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ
อาการของภาวะไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับเป็นภัยเงียบ ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าตับมีความผิดปกติ เพราะในระยะแรกไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมาให้เห็น จนกว่าจะเข้าไปถึงระยะที่ตับเริ่มอักเสบ อาจจะเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจมีอาการปวดท้องที่บริเวณตับเล็กน้อย (ใต้ชายโครงขวา) หากตับอักเสบมากขึ้นอาจมีอาการของโรคดีซ่าน คือ ตัวเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด เป็นต้น
iStock
รู้ได้อย่างไรว่าอยู่ในภาวะไขมันพอกตับ?
จะเห็นได้ว่าอาการที่พบในระยะแรกๆ มักไม่ชัดเจน ดูแลไม่รุนแรง และเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับโรคอื่นๆ จึงอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตัวเองกำลังอยู่ในภาวะไขมันพอกตับ ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หรือ 6 เดือน จะช่วยให้พบความผิดปกติของตับได้เร็วยิ่งขึ้น โดยสามารถตรวจพบได้ผ่านการตรวจเลือด และอัลตร้าซาวนด์ประกอบกัน
วีธีป้องกันภาวะไขมันพอกตับ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมัน (เลว) สูง เช่น เนื้อแดง อาหารทอด อาหารปิ้งย่าง ขนมจากร้านเบเกอรี่ น้ำอัดลม เครื่องดื่มน้ำตาลสูงอื่นๆ (ทานข้าวกล้องจะดีกว่าข้าวขาว) และเลือกทานผักผลไม้มากขึ้น
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 45 นาที – 1 ชั่วโมง
- หากมีความจำเป็นต้องทานยาในกลุ่มสเตียรอยด์ และยาเสริมฮอร์โมน ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีหลีกเลี่ยงภาวะไขมันพอกตับ ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
- หากใครอยู่ในเกณฑ์อ้วน คือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ให้ลดความอ้วนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติให้ได้ สามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกันว่าควรจะมีน้ำหนักอยู่ในระยะเท่าไร
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพราะไขมันพอกตับสามารถตรวจเจอในระยะแรกๆ ผ่านการตรวจเลือด และอัลตร้าซาวนด์เท่านั้น