"ไข้หวัดหมู" คืออะไร อาการ กลุ่มเสี่ยง และอันตรายที่อาจรุนแรงถึงชีวิต
ขึ้นชื่อว่าเป็นโรค ไข้หวัดหมู หลายคนอาจสงสัยว่าเกี่ยวอะไรกับหมู แตที่แน่ ๆ หากคนเป็นแล้ว อาจมีอันตรายจนถึงชีวิตได้เลยทีเดียว Sanook Health จึงนำมาบอกมาเตือนกัน เพราะช่วงฝนตกแดดออกอากาศอบอ้าวแบบนี้ ไข้หวัดหมูระบาดได้ง่ายไม่แพ้โรคอื่น ๆ เลยทีเดียว
ไข้หวัดหมู คืออะไร?
ไข้หวัดหมู แท้จริงแล้วคือไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากสายพันธุ์ A และ C โดยพบในสายพันธุ์ H1N1, H1N2, H2N3, H3N1, และ H3N2 และที่พบได้บ่อยในหมูทั่วโลก คือสายพันธุ์ H1N1, H1N2, และ H3N2
ไข้หวัดหมู ติดต่อกันได้อย่างไร?
ไข้หวัดหมู ต้นกำเนิดมาจากหมูที่ติดเชื้อไวรัส จนทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ในหมู และแพร่กระจายในหมูตัวอื่น ๆ ที่อยู่ในคอกเดียวกันจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย การจาม และละอองไวรัสในอากาศรอบ ๆ บริเวณฟาร์มหมู เมื่อคนเลี้ยงดูหมูสัมผัสกับหมูใกล้ ๆ จึงสามารถติดเชื้อไวรัสจากหมูได้ และสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย จาม/ไอจนเป็นการกระจายละอองไวรัสสู่ผู้อื่นอีกที
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไข้หวัดหมู หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A H1N1 เป็นการติดต่อกันผ่านคนสู่คน ไม่พบเชื้อในหมูทั่วไป และไม่ติดต่อด้วยการสัมผัส หรือกินเนื้อหมูแต่อย่างใด
ไข้หวัดหมู อาการเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคไข้หวัดหมูมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ทั่วไป คือ มีไข้ ปวดศีรษะ คัดจมูก มีน้ำมูกใส ๆ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย หรืออาจจะมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
หากมีอาการรุนแรงขึ้น จะเริ่มมีไข้ขึ้นสูง หายใจเร็ว หอบ ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตต่ำ ซึม ชัก กระสับกระส่าย แขนขาอ่อนแรง ไปจนถึงอัมพาตได้ หากผู้ป่วยได้รับไวรัสที่รุนแรง บวกกับภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรงมากพอ ไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีความเสี่ยงเสียชีวิตเหมือนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น ๆ ในบางราย
กลุ่มเสี่ยง และปัจจัยเสี่ยงโรคไข้หวัดหมู
- ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว เช่น เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน หอบหืด โรคไตเรื้อรัง โรคปอด โรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ ซึ่งหากมีอาการรุนแรง จะเพิ่มความเสี่ยงให้โรคประจำตัวที่เป็นอยู่อาการหนักขึ้น จนอันตรายถึงชีวิตได้
- ผู้มีภูมิต้านทานร่างกายต่ำ ทั้งจากการไม่ออกกำลังกาย ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หรือผู้ที่ต้องทานยากดภูมิคุ้มกันเพื่อรักษาโรคประจำตัวอื่น ๆ
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน
- ผู้เป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถป้องกันไข้หวัดหมูได้หรือไม่?
แม้ว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะครอบคลุมการป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ถึง 4 สายพันธุ์ นั่นคือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A กับ H1N1 และ H3N2 และสายพันธุ์ B กับ B Victoria และ B Yamagata แต่ไข้หวัดหมูเองก็มีหลายสายพันธุ์แบ่งย่อยลงไปอีก ดังนั้นวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้บ้าง แต่อาจไม่ 100% กับไข้หวัดหมู
iStock
วิธีป้องกันโรคไข้หวัดหมู
- หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ หรือสัมผัสกับหมูที่มีอาการป่วย โดยอาจมีอาการตัวร้อน ซึม เบื่ออาหาร ไอ หรือส่งเสียงร้องผิดปกติ มีสารคัดหลั่งในจมูก หรือปากหายใจลำบาก และตาแดง
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการหยิบจับอาหาร หรือสัมผัสกับปากโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจทำให้ติดเชื้อไวรัสได้
- ไม่ใช้ช้อน ส้อม แก้วน้ำ ร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่
- หากเป็นผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่รวมกับคนอื่นในที่สาธารณะ
- ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
- เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่