ภารกิจเพิ่ม (น้ำ) นมแม่
คุณแม่รู้หรือไม่ว่า เหล่าลูกน้อยของท่านควรได้กินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารอื่น เพราะว่านมแม่เป็นอาหารที่มีสารอาหารเพียงพอ ย่อยง่ายและถูกสร้างมาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของทารก
เด็กที่กินนมแม่นั้น พบว่าเด็กมีคะแนนเชาว์ปัญญา สูงกว่าทารกที่ได้รับนมผสม 7-10 จุด น้ำนมแม่มีสารอาหารหลายชนิดที่จำเป็นสำหรับการสร้างเนื้อสมอง การให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าและการโอบกอดลูกบ่อยครั้ง ยิ่งช่วยให้เส้นใยประสาทแตกแขนงอย่างรวดเร็ว และเชื่อมโยงเซลล์ประสาทที่มีจำนวนนับล้านๆ ตัวเข้าด้วยกัน แถมทั้งยังช่วยเพิ่มความรักความผูกพันระหว่างแม่และลูกอีกด้วย
แต่ปัญหาที่คุณแม่หลายคนอาจจะประสบพบเจอในช่วงให้นมลูกก็คือ ภาวะน้ำนมน้อย หรือไม่มีน้ำนมเลย แล้วจะทำอย่างไรหละ? อย่าได้กังวลเรามีเกร็ดความรู้ที่จะช่วยคุณแม่มานำเสนอ
iStock
ถึงแม้ว่าการที่ลูกดูดนมแม่จากเต้านั้นจะเป็นการกระตุ้นน้ำนมไปในตัวอยู่แล้ว แต่คุณแม่ก็ไม่ควรละเลยในการรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุง และกระตุ้นน้ำนมให้มีปริมาณมากขึ้น และมีคุณภาพสารอาหารในน้ำนมดีขึ้นด้วย โดยคุณแม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ เฉกเช่นเดียวกับตอนที่ลูกน้อยยังอยู่ในครรภ์ แต่ควรเพิ่มปริมาณอาหารจากเดิมเพิ่มขึ้นอีก 500 กิโลแคลอรี่ เพื่อใช้ในการสร้างน้ำนม และบำรุงคุณแม่ให้มีร่างกายที่แข็งแรง
ถ้าหากคุณแม่ยังคิดไม่ออกว่าจะรับประทานอาหารแบบใด ปริมาณเท่าไหร่ดี พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช จาก มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณอาหารที่คุณแม่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยใน 1 วัน คุณแม่ควรจะได้รับปริมาณอาหารดังนี้
- อาหารประเภทแป้ง และคาร์โบไฮเดรต ควรรับประทานวันละ 9-10 ทัพพี
- เหล่าธัญพืช เช่น ข้าวโพดและถั่วต่างๆ ควรรับประทานเป็นประจำเพราะให้โปรตีนสูง
- อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ควรไม่ติดมัน และรับประทานทานมื้อละ 3-4 ช้อนโต๊ะ
- ควรรับประทานอาหารวันละ 4 มื้อ
- รับประทานอาหารทะเลได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จะได้รับกรดไขมันที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมองของทารกน้อย
- รับประทานตับอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง
- ควรได้รับไข่วันละ 1 ฟอง เพราะในไข่มีโปรตีนที่มีคุณภาพ รวมทั้งวิตามิน และเกรือแร่
- นมสดควรดื่มวันละ 1-2 แก้ว เพราะมีโปรตีนและแคลเซียมมาก
- น้ำมันพืช ควรได้รับอย่างน้อยไม่เกินวันละประมาณ 5 ช้อนชา
- ผลไม้ควรทานทุกวันอย่าให้ขาด อย่างน้อย 4 ถ้วยตวง
- ผักสด ทั้งชนิดใบเขียว ใบเหลืองควรได้รับวันละ 6 ทัพพี เพื่อที่จะได้วิตามิน เกลือแร่ และช่วยในการขับถ่าย
- น้ำสะอาดคือสิ่งที่จำเป็น ควรได้รับอย่างน้อยประมาณวันละ 8-10 แก้ว จะช่วยหลั่งน้ำนมให้ดีขึ้น
- ที่สำคัญที่สุด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน
iStock
จากหลักการที่ พญ.ยุพยง ได้แนะนำไปนั้น เป็นสิ่งที่คุณแม่ในช่วงให้นมบุตรควรจะปฏิบัติ แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้นสิ่งที่ตกทอดมารุ่นสู่รุ่น ผ่านกาลเวลามาจากอดีต ถึงปัจจุบัน คือ อาหารที่ช่วยเพิ่มน้ำนม อาหารเมนูแรกที่คุณแม่อาจจะเคยได้ยินมาก็คือ “แกงเลียง” เพราะในแกงเลียงมีหัวปลีที่มีแคลเซียมสูง โปรตีน ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินอี เบตาแคโรทีน ซึ่งช่วยบำรุงเลือด และช่วยกระตุ้นการสร้างนํ้านม แต่จะให้รับประทานแต่แกงเลียงทุกวัน คุณแม่ก็อาจจะเบื่อกันได้
เราจึงขอเสนอ ผักที่ช่วยกระตุ้นน้ำนมได้ดีให้คุณแม่ได้เลือกหยิบจับไปปรุงอาหารรับประทาน เริ่มจาก ใบกะเพราสามารถนำใบสดไปใส่ในแกงเลียง ผัดกะเพรา แกงป่าได้, ต้นกรดน้ำ ทั้งต้นสด 1 กำมือ ต้มน้ำดื่ม, กุยช่าย ส่วนดอกสามารถนำมาผัดกับเนื้อ ใบ ใส่ในผัดไทย ผัดตับ ผัดหมู หรือกินสดแกล้มกับอาหารอื่นๆได้, กานพลู ดอกตูมแห้ง 5-8 ดอก ชงน้ำเดือด ดื่มเฉพาะน้ำ หรือใช้เคี้ยว, ขนุน เมล็ด ต้มสุกรับประทานได้ไม่จำกัด, ขิง จะเป็นยำขิง หรือยำปลาทูใส่ขิง ไก่ผัดขิง หรือถั่วเขียวต้มน้ำขิงก็ได้, ต้นเขยตาย ใช้รากต้มน้ำดื่ม, ผักโขมหนาม ทั้งต้นสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 3 ถ้วดื่มเช้า เย็น, ชบาดอกแดง ดอกสด 10-15 ดอก ใส่แกงเลียง, ตำลึง แกงเลียงตำลึง หรือแกงกะทิลูกตำลึง, ไทรย้อยใบแหลม รากนำมาทำเป็นยาบำรุงน้ำนม, นมนางเปลือกหรือรากต้มน้ำดื่ม บำรุงร่างกาย, ผักกาดหอม เมล็ดตากแห้ง 5 กรัม ชงน้ำร้อน 1 ถ้วย ดื่มก่อนอาหาร เช้า – เย็น
iStock
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือผักที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มน้ำนม ที่คุณแม่สามารถเลือกมาเป็นส่วนประกอบในอาหารแต่ละมื้อได้ เพราะสุขภาพที่ดีของลูกน้อยย่อมมาจากอาหารดีๆ ที่คุณแม่รับประทานเข้าไปเพื่อผลิตน้ำนม และขอให้คุณแม่มุ่งมั่นในการให้น้ำนมลูกน้อยต่อเนื่องไปถึง 2 ปีควบคู่กับอาหารตามวัย เพราะนมแม่เป็นรากฐานแรกของการสร้างชีวิตมนุษย์