ซิซซ์เล่อร์พาเที่ยว ฟังเรื่องเล่าจากแม่บนยอดดอย
ต้นทางของ “เบบี้คอส ร็อคเก็ตสลัดพันธุ์ป่า และคอร์นสลัด” ผักสดหวานอร่อยที่ส่งตรงจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มต้นอาจจะไม่ได้หอมหวานสักเท่าไหร่ เกษตรกรต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อพื้นที่ตรงหน้ามีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถเข้ามาเป็นกำลังหลัก ทุกอย่างก็พลิกฟื้น ยิ่งเมื่อความรู้ที่ถูกต้องได้รับการจัดการโดยสองมือของเกษตรกรที่มุ่งมั่นด้วยแล้ว แปลงผักตรงหน้าจึงสมบูรณ์แบบอย่างที่สุด
ซึ่งทางซิซซ์เล่อร์ได้ร่วมมือกับโครงการหลวงริเริ่มโครงการสุขในทุกคำนำผักจากบนยอดดอยมาเสิร์ฟบนสลัดบาร์อย่างต่อเนื่อง 9 ชนิดได้แก่ ไวล์ดร็อคเก็ต, เบบี้คอส, คอร์นสลัด, ถั่วเข็ม, ฟักทองญี่ปุ่น, สตรอว์เบอร์รรี่, พีช, เสาวรส และปลาเทราต์ เพื่อแบ่งปันความอร่อยที่เต็มไปด้วยความรักและความทะนุถนอมของสองมือเกษตรกรให้ทุกคนได้อิ่มไปด้วยกัน
กัลยา อมรศรีคงคา เกษตรกรสาวชาวไทยภูเผ่าปกาเกอะญอ เล่าว่าและทุกคนในครอบครัวใหญ่ของเธอ ล้วนเป็นเกษตรกรผู้ปลูกผักโรงเรือนในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ รวมถึงเจ้าตัวเล็กวัยอนุบาล ลูกสาวของเธอ และลูกชายของพัชรินทร์(พี่สาว) ด้วยเช่นกัน “เด็กๆ เติบโตมากับการปลูกผัก ได้รับการปลูกฝังให้รักอาชีพเกษตรกรไปโดยปริยาย เหมือนที่หนูเติบโตมากับการปลูกผักของพ่อแม่”
“พอมีลูกปุ๊บก็เริ่มทำโรงเรือนของตัวเองเลยค่ะ เพราะตั้งใจไว้อยู่แล้ว ตอนเรียนก็เลือกเรียนการเกษตรด้วย ปลูกผักเดี๋ยวนี้ไม่เหนื่อยเหมือนรุ่นแม่ ปลูกในโรงเรือน ฝนตกก็ไม่ช้ำ แมลงก็ไม่เข้า เมื่อไม่มีศัตรูพืชก็ไม่ต้องใช้ยาเลย ใส่แค่ปุ๋ย ทำให้มีเวลาดูแลลูก ถ้าทำงานในเมืองก็ต้องเอาลูกไปฝากให้เขาเลี้ยง อยากเลี้ยงลูกเองมากกว่า อยากให้เขาเติบโตในที่อากาศบริสุทธิ์แบบบนดอยนี้ด้วย อยู่กับธรรมชาติ อาหารก็สด สะอาด ปลอดภัย”
กัลยาเล่าต่อว่า หลังจากกลับมาจากโรงเรียน เด็กๆ จะช่วยแม่ถอนหญ้า เก็บผัก พอหิวก็เก็บผักในแปลงกินสดๆ กันแบบนี้ “คนไทยทั่วประเทศก็ได้กินผักสดๆปลอดสารพิษ เหมือนที่ลูกหนูกินแน่แหละค่ะ”(ยิ้ม)
แล้วปลูกผักกับเลี้ยงลูกอะไรเหนื่อยกว่ากัน เราอยากรู้ “ปลูกผักไม่เหนื่อย เลี้ยงลูกก็ไม่เหนื่อยค่ะ เพราะทำจนเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว ปลูกผักไปเลี้ยงลูกไป ทำด้วยความรักก็ไม่เหนื่อย แต่ไม่ว่าจะผักหรือลูกก็ต้องการการดูแลเหมือนกัน ผักเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกได้ ดินน้ำลมฟ้าอากาศ ก็ดูแลใส่ปุ๋ยปรับดินแก้ไขกันไป ส่วนลูก เราก็ไม่รู้ว่าเค้าจะเติบโตมาเจออะไร แต่เราสอนเค้าได้ ปลูกฝังเค้าได้”
อีกหนึ่งความประทับใจบนแปลงผักคือเรื่องราวของคู่แม่ลูกที่ต่างเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กันและกัน คุณยายพะมู กะทู (อายุ 63 ปี) และศรีวรรณ กระสินธุ์สุขศรี (อายุ 29 ปี) ที่ปัจจุบันเป็นคุณแม่เต็มตัว พร้อมกับอาชีพเกษตรกรที่สืบทอดต่อมาจากคุณแม่
เดิมทีศรีวรรณไปทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในเมือง บ่อยครั้งที่ถูกนายจ้างด่าทออย่างไม่มีเหตุผล ทำให้เหนื่อยทั้งกายและใจ คุณยายพะมูผู้เป็นแม่จึงอยากให้กลับมาทำงานที่บ้าน ศรีวรรณก็อยากกลับมาดูแลแม่ที่กำลังเข้าสู่วัยชราจึงตัดสินใจเดินทางกลับมาใช้ชีวิตที่ดอยแม่โถอันเป็นบ้านเกิด หาเลี้ยงชีพด้วยการปลูกผักในโครงการหลวงฯ ที่คุณยายพะมูได้ดำเนินการนำร่องไปก่อนแล้ว ซึ่งเธอบอกว่าเป็นตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดในชีวิต “อยากจะขอบคุณแม่ ที่ได้วางแนวทางชีวิตไว้ให้ เพราะจากโรงเรือนปลูกผักที่เป็นของเราเอง ทำให้ปลดหนี้ที่เกิดขึ้นตอนอยู่ในเมืองได้หมด ที่สำคัญลูกสาวก็น่าจะมีอนาคตที่ดีเพราะเขามีโอกาสได้เรียน แล้วก็ยังมีกิจการโรงเรือนผักไว้รองรับ” ศรีวรรณน้ำตาคลอขณะเล่าถึงความสำคัญของกิจการโรงเรือนปลูกผัก ที่เป็นเสมือนมรดกตกทอดจากแม่
“อยากเชิญชวนทุกคนให้มาทานผักของโครงการหลวงฯ เพราะ กรอบ หวาน อร่อย สะอาด ปลอดภัย ยิ่งกว่านั้นคือพวกเราทุกคนดูแลกันอย่างตั้งใจจริงๆ”
อภิชญา สาครธารง คุณแม่ของลูกๆวัยกำลังเรียนสามคน วันนี้เด็กๆไปโรงเรียนกันหมด อภิชญาจึงชวน ดี สาครธารง สามี มาช่วยเล่าเรื่องราวการหาเลี้ยงชีพและเลี้ยงดูลูกๆด้วยการปลูกผักบนดอยแม่โถแห่งนี้
“ครอบครัวปลูกผักแบบโรงเรือนมาตั้งแต่เริ่มมีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ ระยะเวลาในการปลูกผักเท่าๆ กับอายุลูกสาวคนโต ตอนนี้ก็ประมาณ 17 ปีแล้ว (ยิ้ม) ลูกๆทุกคนสัมผัสชีวิตการปลูกผักมาตั้งแต่เด็กค่ะ กระเตงมาที่แปลงผักด้วยทุกวันตั้งแต่แบเบาะเพราะเราเลี้ยงลูกเอง เขาก็พยายามช่วยเราปลูกผักเท่าที่จะทำได้”
“ปลูกผักกับเลี้ยงลูกอะไรเหนื่อยกว่ากัน” เราลองถามอภิชญาเหมือนที่ถามกับแม่ๆคนอื่น “เลี้ยงลูกน่าจะเหนื่อยกว่าหน่อย เพราะผักมันไม่พูด ลูกมันพูดได้บางทีมันก็เถียง (หัวเราะ) แต่ที่แน่ๆ ทั้งสองอย่างทำให้มีความสุขเหมือนกัน ต่างกันนิดหน่อยตรงที่เลี้ยงลูกอาจจะสุขคนเดียว แต่ปลูกผัก มันสุขหลายทาง เราสุขที่ผักมันสด คนกินก็สุขที่มันอร่อย ใช่ไหม” อภิชญาถามกลับแบบไม่ต้องการคำตอบเหมือนกับว่าเธอรู้คำตอบอยู่แล้ว
[Advertorial]