ระวัง! ฝนตกฟ้าผ่าช่วงบ่ายถึงเย็น หลังพบบาดเจ็บ 24 เสียชีวิต 8
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้ระมัดระวังการถูกฟ้าผ่าในช่วงฝนฟ้าคะนองในช่วงนี้ หลังข้อมูลปี 2559 ที่ผ่านมา พบผู้บาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่า จำนวน 24 ราย และในจำนวนนี้เสียชีวิต 8 ราย ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุดคือช่วงบ่ายถึงเย็น เดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกันยายน พบเกิดเหตุบ่อยสุด แนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งขณะฝนตกฟ้าคะนอง ไม่อยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้สภาพอากาศแปรปรวน บางพื้นที่มีอากาศร้อนสลับฝนตก ซึ่งอาจทำให้เกิดฟ้าผ่าขึ้นได้ ประชาชนจึงควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ จากข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับโรงพยาบาลเครือข่ายการเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 33 แห่ง มีรายงานผู้บาดเจ็บรุนแรงจากฟ้าผ่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา จำนวน 24 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 8 ราย (เสียชีวิต 1 ใน 3) ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ร้อยละ 46 รองลงมาเป็นเกษตรกรรม ร้อยละ 32 ส่วนสถานที่ส่วนใหญ่เป็นบริเวณนา ไร่ สวน ร้อยละ 58 รองลงมาคือบ้าน ร้อยละ 29 ซึ่งเกิดเหตุสูงสุดในเดือนพฤษภาคม รองลงมาคือเดือนมิถุนายนและกันยายน ส่วนช่วงเวลาเกิดเหตุสูงสุด คือเวลา 16.00-16.59 รองลงมา เวลา 17.00-17.59 และ 14.00-14.59 ตามลำดับ
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลจากโรงพยาบาลเครือข่ายในระบบเฝ้าระวัง 33 แห่งเท่านั้น ยังมีผู้ถูกฟ้าผ่าที่เสียชีวิตทันที หรือบางรายบาดเจ็บไม่รุนแรง ไม่ได้มาโรงพยาบาลอีกเป็นจำนวนมาก โดยมีสาเหตุจากหัวใจหยุดเต้นด้วยกระแสไฟฟ้าแรงสูง ช็อกทันที แม้บางครั้งฟ้าผ่าไม่ถูกคน แต่ก็เป็นอันตรายได้หากอยู่ใกล้สิ่งที่ฟ้าผ่า กระแสไฟจากสิ่งที่ฟ้าผ่าอาจพุ่งเข้าสู่คนที่อยู่ใกล้ได้หลายทาง เช่น ผ่านเสื้อผ้าหรือตัวที่เปียก อุปกรณ์โลหะที่ใช้ทำงาน เป็นต้น
การป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงอยู่กลางแจ้ง ในขณะฝนตกฟ้าคะนอง หากจำเป็นควรนั่งยอง ย่อตัวให้ต่ำและชิดกับพื้นให้มากที่สุด แต่ไม่ควรนอนราบกับพื้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา เพราะฟ้าผ่าลงที่สูง
- ควรหลบในตัวอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้ แต่ไม่ควรใช้โทรศัพท์ เปิดคอมพิวเตอร์ เล่นอินเตอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือยู่ใกล้ประตู หน้าต่างที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะในขณะฟ้าร้องฟ้าผ่า
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสื่อไฟฟ้าต่างๆ ทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
- กรณีอยู่ในรถ ควรปิดกระจกทุกบาน หากฟ้าผ่าลงรถควรตั้งสติ ไม่ควรออกจากรถโดยเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้าที่ไหลตามผิวโลหะของตัวถังรถจะไหลลงสู่พื้นดิน หากออกนอกรถจะมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าสูง ที่สำคัญอย่าสัมผัสส่วนที่เป็นโลหะ
สำหรับการช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่าต้องช่วยอย่างรวดเร็ว โดยประเมินความปลอดภัยของที่เกิดเหตุ และโทรขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 โดยแจ้งข้อมูลผู้ถูกฟ้าผ่าและสถานที่เกิดเหตุ อาจเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากสถานที่โดนฟ้าผ่าไปยังที่ปลอดภัย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422