มะเร็งลำไส้ใหญ่ ป้องกันได้ด้วยการ “ตรวจคัดกรอง”
รู้หรือไม่คะว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นหนึ่งในมะเร็งที่พบในคนไทยสูงที่สุด และพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย (อ่านต่อ >> 9 มะเร็งยอดฮิตที่คนไทยเป็นกันมากที่สุด ทุกเพศทุกวัย) อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ามะเร็งลำไล้ใหญ่จะดูน่ากลัว แต่ข่าวดีคือ เราสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้ ไม่ต่างไปจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งชนิดอื่นๆ
ใครควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 40 ปี หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจเข้ารับการตรวจในช่วงอายุ 50 ปีได้ และควรตรวจทั้งผู้ชาย และผู้หญิง เพราะมีความเสี่ยงมากพอๆ กัน
วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ตรวจอุจจาระ
เราสามารถทราบความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ของเราได้ง่ายๆ จากการตรวจอุจจาระ โดยจะทำการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ เพราะหากเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือพบติ่งเนื้องนลำไส้ใหญ่ อาจพบเลือดปะปนมากับอุจจาระได้
อย่างไรก็ตาม การพบเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ ยังเป็นสาเหตุของอีกหลายโรคที่อาจไม่ใช่มะเร็งลำไส้ใหญ่ และในทางกลับกัน หากผู้ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มต้น หรือพบว่ามีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่แล้ว อาจไม่พบเลือดในอุจจาระเช่นกัน ดังนั้นวิธีตรวจอุจจาระจึงเป็นเพียงการคัดกรองง่ายๆ ที่ต้องการวิธีตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม
- ตรวจเลือด
ผลของเลือด บอกสุขภาพของเราได้หลายอย่าง เช่นเดียวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผลของเลือดจะมีค่ามะเร็งลำไส้ (CEA) บ่งบอกอยู่ด้วย แต่วิธีนี้มีความแม่นยำต่ำ กล่าวคือไม่สามารถฟันธงได้ 100% ว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่จากการตรวจด้วยวิธีนี้ ดังนั้นควรเข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมอีกครั้ง
- เอ๊กซ์เรย์คอมพิวเตอร์
วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการเอ๊กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonoscopyหรือ Virtual Colonoscopy) เป็นอีกหนึ่งที่มีความแม่นยำในการมองเห็นติ่งเนื้อที่ผิดปกติ แต่หากผลเอ๊กซ์เรย์ออกมาว่าพบติ่งเนื้อ ก็ต้องทำการส่องกล้องเพื่อมองหาติ่งเนื้อ แล้วตัดชิ้นส่วนของติ่งเนื้อออกมาอีกอยู่ดี
- ส่องกล้อง
มะเร็งลำไส้ใหญ่จะมีอาการที่ชัดเจนอยู่ นั่นคือ การพบติ่งเนื้อลำไส้ ดังนั้นหากจะตรวจหามะเร็ง ก็ต้องส่องกล้องเข้าไปดูในลำไส้ใหญ่ว่าพบติ่งเนื้อผิดปกติหรือไม่
วิธีการส่องกล้อง เป็นวิธีที่ตรวจลำไส้ใหญ่ที่มีแความแม่นยำมากที่สุด สามารถพบทั้งติ่งเนื้อขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ และเมื่อพบแล้วยังสามารถตัดติ่งเนื้อนั้นออกได้ทันที
ก่อนจะส่องกล้อง แพทย์อาจทำการวินิจฉัยในเบื้องต้น ผ่านการตรวจด้วยวิธีเอกซ์เรย์พิเศษ และตรวจอุจจาระก่อน หากพบผลผิดปกติ จึงทำการตรวจด้วยวิธีส่องกล้องเป็นลำดับต่อไป
iStock
โดยปกติแล้วแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจคัดกรองทุกวิธีรวมกัน อาจเริ่มต้นจากการตรวจอุจจาระ และเลือด ก่อนมาเป็นเอ๊กซ์เรย์พิเศษ และส่องกล้อง เพื่อความมั่นใจว่าพบความผิดปกติจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเลือกวิธีส่องกล้องเป็นวิธีแรก และวิธีเดียว เพราะอาจเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจโดยไม่จำเป็น ควรเป็นวิธีสุดท้ายที่มีความมั่นใจสูงว่าน่าจะพบติ่งเนื้อผิดปกติ และพร้อมจะทำการรักษาแล้วจริงๆ