จริงหรือไม่? ขี้หูเปียก เสี่ยงมะเร็งเต้านมมากกว่าขี้หูแห้ง?
มะเร็ง เป็นโรคที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม หากมีสมาชิกบางคนในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็ง คุณเองก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งได้มากกว่าคนที่มาจากครอบครัวที่ไม่เคยเป็นโรคมะเร็ง
แต่พันธุกรรมที่ว่า เกี่ยวข้องกับ “ขี้หู” ด้วยหรือเปล่า
ขี้หู เกิดจากอะไร?
ภายในหูของคนเราจะมีต่อมสร้างขี้หูที่ร่างกายจะผลิตออกมาเพื่อดักจับฝุ่น และสิ่งสกปรกต่างๆ ไม่ให้เข้าไปในเยื่อแก้วหู ดังนั้นการปล่อยให้มีขี้หูอยู่ในรูหูอยู่บ้าง ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแย่นัก เพื่อให้ขี้หูช่วยดักจับสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปในหูนั่นเอง
นอกจากนี้ ขี้หูมักมีกลิ่นแรง (ถ้าเทียบแล้ว ก็กลิ่นแรงกว่าขี้มูก) เหตุเพราะเป็นกลไกธรรมชาติที่ร่างกายต้องการผลิตขี้หูเพื่อป้องกันสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่นแมลงหรือมด เข้าไปในหู หากขี้หูมีกลิ่น แมลงเหล่านั้นก็จะไม่เข้าไปในหูนั่นเอง
ใช้ไม้พันสำลีเช็ดหูสะอาดเป็นประจำ ดีหรือไม่?
จริงๆ แล้ว แพทย์แนะนำว่า ไม่ควรใช้ไม้พันสำลีแหย่เข้าไปทำความสะอาดรูหูเลย เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายต่อเยื่อแก้วหูในกรณีที่แหย่เข้าไปลึกเกินไป หรืออาจเป็นการดันเอาขี้หูเข้าไปในแก้วหูลึก และอัดแน่นกว่าเดิม แนะนำให้เช็ดบริวเณรอบนอกรูหูจะดีกว่า แต่หากใครรู้สึกหูอื้อ หูตัน ควรให้แพทย์ตรวจ หรือทำความสะอาดให้อย่างปลอดภัย ด้วยอุปกรณ์เฉพาะ
อ่านต่อ >> จริงหรือไม่? “คอตตอนบัด” ห้ามใช้เช็ดหู?
iStock
ทำไมถึงมีขี้หูเปียก/แห้ง?
บางคนมีขี้หูเปียก สีเข้ม เหนียวหนืด บางคนก็มีขี้หูแห้งเป็นก้อนๆ หลุดทีออกมาเป็นยวง ลักษณะของขี้หูเป็นลักษณะตามพันธุกรรมของพ่อแม่เรา เหมือนมีตาชั้นเดียวกับตาสองชั้นนั่นเอง (ขี้หูเปียกเป็นยีนส์เด่น)
นอกจากนี้ คนทางฝั่งเอเซียตะวันออกส่วนใหญ่จะมีขี้หูแบบแห้ง โดยเฉพาะในภาคเหนือของจีนและคาบสมุทรเกาหลีที่คนเกือบ 100% มีขี้หูแห้ง ขณะที่คนยุโรปและคนแอฟริกาจะมีขี้หูเปียกเป็นส่วนมาก
คนที่มีขี้หูเปียก เสี่ยงมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่มีขี้หูแห้ง?
จริงๆ แล้วยังไม่มีรายงานการวิจัยที่ชัดเจน ว่าคนที่มีขี้หูเปียก จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่มีขี้หูแห้ง แต่อาจมีผู้เชี่ยวชาญบางรายตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้เท่านั้น
คนที่มีขี้หูเปียก เสี่ยงมีกลิ่นตัวแรง เหงื่อออกง่าย?
ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตเอาไว้เช่นกัน ว่าคนที่มีขี้หูเปียก เสี่ยงมีกลิ่นตัวแรง เหงื่อออกง่าย โดยเฉพาะบริเวณที่มีต่อมเหงื่ออย่าง รักแร้ ข้อพับ ใต้ราวหน้าอก จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายที่เหมาะสม
ทำความสะอาดหูอย่างไรถึงจะปลอดภัย
- อย่าให้ไม้พันสำลี หรือคอตตอนบัตแหย่เข้าไปทำความสะอาดในหู ให้เช็ดเพาะรอบๆ นอกปากรูหู
- อย่าใช้นิ้ว และอุปกรณ์อื่นแหย่เข้าไปในหู อาจทำให้รูหูมีแผลถลอก และติดเชื้อได้
- หลังว่ายน้ำ หากอยากทำความสะอาดหู สามารถใช้น้ำส้มสายชู (2% Acetic acid) หรือ น้ำส้มสายชูผสมแอลกอฮอล์ (1:1) ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ทั้งแบคทีเรียและ เชื้อรา
- หากใครมีปัญหาขี้หูมาก ขี้หูอุดตันง่าย ให้แพทย์ทำความสะอาดหูให้ปีละ 2-3 ครั้ง