เข้าใจใหม่! งู ตะขาบ แมงป่องกัด ปฐมพยาบาลอย่างไร
หน้าฝนยังไม่ไปง่ายๆ งูเงี้ยวเขี้ยวขอก็ออกมาเพ่นพ่านมากมาย วันดีคืนดีคุณอาจจะเป็นผู้โชคร้ายเหยียบไปเจอสัตว์อันตรายอย่าง งู ตะขาบ แมงป่อง จนถูกกัดถูกต่อยเอาได้ สัตว์มีพิษเหล่านี้ เรามีวิธีปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีอย่างไร มาซึกษาข้อมูลขากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกันค่ะ
____________________
งู ประเทศไทยมีงูหลายชนิด ทั้งงูมีพิษและงูไม่มีพิษ งูพิษร้ายแรงมีอยู่ 7 ชนิดคือ งูเห่า งูจงอ่าง งูแมวเซา งูกะปะ งูสามเหลี่ยม งูเขียวหางไหม้ และงูทะเล พิษของงูมีลักษณะเป็นสารพิษ งูแต่ละชนิดมีสารพิษต่างกันเมื่อสารพิษเข้าไปสู่ร่างกายแล้วสามารถซึมผ่านเข้าไปในกระแสเลือดที่ไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆของร่างกายไม่เหมือนกัน ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะงูพิษได้ 3 ประเภท ได้แก่ พิษต่อระบบประสาท พิษต่อระบบเลือด พิษทำลายกล้ามเนื้อ
ลักษณะบาดแผลที่ถูกงูพิษและงูไม่มีพิษกัด
งูพิษมีเขี้ยวยาว 2 เขี้ยว อยู่ด้านหน้าขากรรไกรบนมีลักษณะเป็นท่อปลายแหลมเหมือนเข็มฉีดยามีท่อต่อมน้ำพิษที่โคนเขี้ยว เมื่องูกัดพิษงูจะไหลเข้าสู่ร่างกายทางรอยเขี้ยว ส่วนงูไม่มีพิษจะไม่มีเขี้ยวมีแต่ฟันธรรมดาแหลมๆ เล็กๆ เวลากัดจึงไม่มีรอยเขี้ยว
iStock
วิธีปฐมพยาบาล
เมื่อแน่ใจว่าถูกงูกัด อย่าตกใจ ให้รีบสอบถามลักษณะงูที่กัดจากผู้ป่วยและรีบทำการปฐมพยาบาลตามลำดับ ดังนี้
- รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องนำงูที่กัดมาด้วย เพราะจะทำให้เสียเวลาในการได้รับการรักษา (ทั้งนี้แพทย์สามารถให้การรักษาได้แม้ไม่เห็นตัวงู)
- ให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวบริเวณที่ถูกงูกัดน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
- การดามบริเวณที่ถูกงูกัดด้วยแผ่นไม้หรือวัสดุแข็ง แล้วใช้ผ้ายางยืด (elastic bandage) รัดให้แน่น มีแรงดันประมาณ 55 มม.ปรอท แต่การปฏิบัติให้ถูกต้องทำได้ยากและมักไม่มีอุปกรณ์ ดังนั้นถ้าไม่สามารถทำได้สะดวก ก็ไม่ควรเสียเวลาในการทำ ควรรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดจะดีกว่า
- ไม่ควรทำการขันชะเนาะ (tourniquet) จากการศึกษาพบว่าไม่มีประโยชน์และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้อเน่าตาย ส่วนในกรณีของงูที่มีพิษต่อระบบประสาทมีรายงานว่าผู้ป่วยอาจเกิดอาการแย่ลงจนเกิดภาวะหายใจวายทันทีหลังการคลายการขันชะเนาะ จึงต้องเตรียมการช่วยหายใจให้พร้อมก่อน ถ้าผู้ป่วยขันชะเนาะมา
- ไม่ควรทำ การกรีด ตัด ดูด ใช้ไฟจี้ หรือใช้สมุนไพรพอกแผล เพราะไม่มีประโยชน์และอาจทำให้ติดเชื้อได้
การป้องกันงูพิษกัด
- ถ้าต้องออกจากบ้านเวลากลางคืนหรือต้องเดินทางเข้าไปในป่าหรือทุ่งหญ้า หรือในที่รก ควรสวมรองเท้าหุ้มส้น หรือรองเท้าหุ้มข้อ และสวมกางเกงขายาว
- ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่รกเวลากลางคืน ถ้าจำเป็นควรมีไฟฉายส่องทาง และควรใช้ไม้แกว่ง ไปมาให้มีเสียงดังด้วย แสงสว่าง หรือเสียงดังจะทำให้งูตกใจหนีไปที่อื่น
- เวลาที่งูออกหากินคือเวลาที่พลบค่ำ และเวลาที่ฝนตกปรอยๆ ที่ชื้นแฉะ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
- ไม่ควรหยิบของหรือยื่นมือเข้าไปในโพรงไม้ ในรู ในที่รก กอหญ้า หรือกองไม้ เพราะงูพิษอาจอาศัยอยู่ในที่นั้น
ตะขาบ แมงป่อง ผู้ที่ถูกตะขาบกัด หรือ แมงป่องต่อย จะมีเจ็บปวดมากกว่าแมลงชนิดอื่นเพราะแมงป่อง และตะขาบมีพิษมาก บางคนที่แพ้สัตว์ประเภทนี้อาจมีอาการปวดและบวมมาก มีไข้สูง คลื่นไส้ บางคน มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและมีอาการชักด้วย
วิธีปฐมพยาบาล
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ และล้างออกให้หมด ล้างซ้ำหลายๆครั้ง
- ใช้ครีมยาแก้แพ้ทาบริเวณที่บวมแดง เช่น เพล็ดนิโซโลนครีม
- ถ้าปวดมากกินยาแก้ปวด พาราเซตามอล และใช้น้ำแข็งวางประคบบริเวณที่ปวดบวม
- ในรายที่มีไข้ ปวดศีรษะ หลังกินยาแล้ว นอนพัก โดยทั่วไปอาการมักดีขึ้นเองภายใน 1-2 วัน ถ้าอาการยังไม่ทุเลาลง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล