เช็กด่วน! 5 สัญญาณอันตราย “ออฟฟิศซินโดรม”
ออฟฟิศซินโดรมไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยอีกต่อไป หากเราจะบอกว่าคนที่เป็นต้องประสบภาวะทรมานจนบอกกับตัวเองว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ จะไม่ใช้ร่างกายของตัวเองเปลืองขนาดนี้ เพราะหากสายเกินไป คุณต้องทนทรมานกับการต้องผ่าตัด หรือทำกายภาพกันทุกอาทิตย์ เสียเวลาเสียเงินไม่ใช่น้อย
ก่อนที่ร่างกายจะพังจนสายเกินไป มันมีสัญญาณเล็กๆ บอกเราอยู่ก่อนหน้า จะมีอาการอะไรบ้าง มาดูกัน
- มือชา ปลายนิ้วชา
จากที่นิ้วมือรัวคียบอร์ดอย่างคล่อง กลับกลายเป็นว่าเริ่มคลิกเมาส์ไม่ถนัด นิ้วมือแข็งตึง มือชา ปวดข้อ ไปจนถึงปลายนิ้วชา อาจมีปัญหาที่เส้นเอ็นที่เกิดจากการเกร็งของนิ้วมากเกินไป หรืออาจจะเลยเถิดไปถึงเส้นประสาทมีปัญหา มีความเสี่ยงในการเป็นนิ้วล็อก หรือปลายประสาทอักเสบได้
อ่านต่อ >> สัญญาณอันตรายจาก “มือเท้าชา”
- ปวดหัวขนาดที่ยาแก้ปวดธรรมดาเอาไม่อยู่
อาการปวดหัว ปวดศีรษะอาจเกิดขึ้นได้นานๆ ครั้งจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ความเครียดสะสม พักผ่อนน้อย หรือใช้สายตาในการจ้องเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป แต่หากปวดศีรษะบ่อยๆ แล้สวเริ่มทานยาแก้ปวดตัวเก่าไม่หาย จนต้องเพิ่งยาแก้ปวดตัวใหม่ที่แรงกว่าเดิม อาจมีความเสี่ยงในการเป็นไมเกรนได้
- ปวดไหล่ คอ และหลังแบบร้าวๆ จิ๊ดๆ แปล๊บๆ
อาการเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว เมื่อยไหล่เมื่อยหลังที่เคยไปนวดๆ 1-2 ชั่วโมง กลับกลายเป็นอาการปวดที่สร้างความทรมานให้กับตัวเองทุกครั้งที่นั่งทำงาน จะใช้ยาฉีด ยาแปะ ยาทาแก้ปวดก็ทำให้รู้สึกสบายได้ไม่กี่ชั่วโมง อาการเหล่านี้ส่อเค้าอาการออฟฟิศซินโดรมอย่างชัดเจน โดยอาจมีปัญหาของกล้ามเนื้อ กระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกได้
อ่านต่อ >> ปวดแบบไหน สัญญาณอันตราย “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท”
- ปัสสาวะกระปริบประปอย ปวดแต่ปัสสาวะไม่ออก
อาการนี้มักเป็นบ่อยกับพนักงานสาวที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ค่อยได้เข้าห้องน้ำ ต้องอั้นปัสสาวะบ่อยๆ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ที่สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยมากกว่าที่คิด
อ่านต่อ >> “ปัสสาวะบ่อย” สัญญาณ 8 โรคอันตรายที่อาจคาดไม่ถึง
- ตาพร่า
อาการตาพร่า อาจมาจากการเวียนศีรษะชั่วคราว เนื่องจากการพักผ่อนน้อย ไม่ได้ทานข้าว หน้ามืดจะเป็นลมล้มฟุบไปกับโต๊ะ หรือบางท่านที่รู้สึกโหยน้ำตาล ตาพร่ามัว มือสั่น ก็แก้ได้ด้วยการทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล แต่หากเป็นอาการตาพร่ามัวบ่อยๆ อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเยื่อบุนัยน์ตาเสื่อม และเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินได้ในอนาคต
อ่านต่อ >> 3 วิธีง่ายๆ เช็ค “ต้อหิน” รู้ตัวก่อนเสี่ยงตาบอดถาวร
หากใครมีอาการดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการเหล่านั้น ลดเวลาในการทำงานลง พักผ่อนให้มากขึ้น ทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยลดความเครียด และแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ดี รวมไปถึงสภาพจิตใจก็สดชื่นแจ่มใส พร้อมสู้กับงานในวันใหม่ได้อย่างไม่มีปัญหาค่ะ