อันตราย! ดื่มน้ำน้อย-ท้องผูกเป็นประจำ เสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน”

อันตราย! ดื่มน้ำน้อย-ท้องผูกเป็นประจำ เสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน”

อันตราย! ดื่มน้ำน้อย-ท้องผูกเป็นประจำ เสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องของการขับถ่ายไม่เข้าใครออกใครจริงๆ เพราะหากจำเป็นจะต้องใส่ชุดสวยไปงาน หรือรู้สึกอึดอัดตัวอยากถ่าย แต่ไม่ถ่าย เดือดร้อนตัวเองและเพื่อนที่ต้องหาสารพัดของกินช่วยถ่ายกันอย่างเร่งด่วน บางคนแย่กว่านั้น ท้องผูกหนักจนต้องพึ่งยาถ่ายอยู่บ่อยๆ บอกไว้เลยว่าระบบขับถ่ายพังแน่ๆ และที่สำคัญยังเสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน” อีกด้วย

 

“ภาวะอุจจาระอุดตัน” คืออะไร?

ภาวะอุจจาระอุดตัน คือภาวะที่อุจจาระแห้ง และอุดตันบริเวณลำไส้ตรง จนไม่สามารถผ่านออกมาได้ เกิดจากการที่มีปัญหาท้องผูกรุนแรง หรือท้องผูกเป็นเวลานาน

 

ใครเสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน”

ภาวะอุจจาระอุดตัน สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยที่มีปัญหาเรื่องของการขับถ่าย หากเป็นเด็กเล็กอาจเกิดจากการไม่อยากถ่ายระหว่างการฝึกเข้าห้องน้ำ ติดเล่นจนไม่อยากหยุดเล่นเพื่อไปเข้าห้องน้ำ กลัวอาจารย์ดุระหว่างทำการเรียนการสอนจนอดทนอดกลั้นไม่ลุกจากเก้าอี้ หรือบางคนมีนิสัยที่ไม่ชอบถ่ายนอกบ้าน พยายามกลั้นเพื่อกลับไปปลดทุกข์ที่บ้าน

สำหรับผู้ใหญ่อาจมาจากการกลั้นอุจจาระระหว่างเดินทาง รถติด อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถขอเข้าห้องน้ำได้ เช่น ระหว่างสอบ ประชุม และคนชราอาจเกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายที่ลดน้อยลง และกล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแรงตามอายุ ไปจนถึงไม่สามารถลุกไปเข้าห้องน้ำได้เนื่องจากผู้ดูแลไม่พาไปห้องน้ำสม่ำเสมอ หรืออาจจะใช้ชีวิตอยู่คนเดียวและเดินเหินไม่สะดวก เป็นต้น

 

ปัจจัยเสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน”

  1. ดื่มน้ำไม่เพียงพอ มีส่วนทำให้อุจจาระแข็ง และแห้ง

  2. รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารน้อยเกินไป เช่น ผู้ที่ไม่ทานผักผลไม้ และ/หรือทานอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นแป้ง น้ำตาล และไขมันมากเกินไป

  3. ไม่ค่อยออกกำลังกาย หรือไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย หากนั่งอยู่กับที่เฉยๆ เป็นเวลานาน จะไม่ส่งผลดีต่อการทำงานของระบบขับถ่าย การขยับตัว หรือออกกำลังกายจะเป็นการกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

  4. มีอาการท้องผูกบ่อยๆ จากสาเหตุข้างต้น

  5. มีอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ทำให้ไม่สามารถขยับร่างกายได้มากเท่าคนปกติ

  6. มีความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ และไส้ตรง

  7. รับประทานยาที่ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เป็นเวลานาน เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม narcotics, ยาลดกรด, ธาตุเหล็กหรือยากลุ่ม calcium channel blockers ซึ่งใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง

  8. มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคไทรอยด์ หรือโรคซึมเศร้า ที่อาจส่งผลจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิต การทานอาหาร เป็นต้น

 

stomachacheiStock

 

อาการของ “ภาวะอุจจาระอุดตัน”

- ปวดท้องแบบบีบๆ

- ท้องอืด แน่นท้อง ไม่สบายท้อง

- คลื่นไส้ อาเจียน

- เบ่งอุจจาระอย่างแรงเกือบทุกครั้งที่ถ่าย

- อุจจาระเป็นก้อนเล็ก และแข็ง อาจจะบาดจนรู้สึกเจ็บทวารหนัก

- มีความรู้สึกว่าอุจจาระไม่สุด อุจจาระไม่หมดท้อง

- มีเลือดออกมาจากปากทวารหนักหลังอุจจาระ

- บางครั้งอาจรู้สึกว่ามีอุจจาระ หรือปัสสาวะเล็ด

- รู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างมากดในส่วนของกระเพาะปัสสาวะ

- ปวดหลังส่วนล่าง

 

การรักษา “ภาวะอุจจาระอุดตัน”

หากไปตรวจกับแพทย์แล้วแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าอยู่ในภาวะอุจจาระอุดตัน แพทย์อาจใช้วิธีเอานิ้วสอดเข้าไปกวาดอุจจาระออกมาทางทวารหนัก หรืออาจจะพิจารณาวิธีอื่น เช่น สวนทวารหนัก เหน็บยา หรือให้ยาต่างๆ หากมีอาการหนักอาจมีการผ่าตัดเพื่อนำอุจจาระออกมาจากลำไส้ แต่ยังพบได้น้อยมาก

 

วิธีลดความเสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน”

วิธีลดความเสี่ยงภาวะอุจจาระอุดตันก็ง่ายๆ เพียงดื่มน้ำให้มากขึ้น มากเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน (อ่านต่อ >> รู้ได้อย่างไร “ดื่มน้ำ” เพียงพอแล้วหรือยัง) ทานผักผลไม้ และอาหารที่กากใยอาหารให้มากๆ อย่ากลั้นอุจจาระโดยไม่จำเป็น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ต้องถ่ายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการท้องผูก และภาวะอุจจาระอุดตันได้แล้วล่ะค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook