ช็อกโกแลต เกือบทุกยี่ห้อในไทย พบปนเปื้อน "ตะกั่ว-แคดเมียม"
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ แถลงข่าวผลทดสอบการปนเปื้อนโลหะหนัก 2 ชนิด ได้แก่ แคดเมียม และ ตะกั่ว ในช็อกโกแลต 19 ตัวอย่าง ที่เป็นที่นิยมในตลาดทั้งผลิตในประเทศและนำเข้า โดยสุ่มเก็บตัวอย่างในเดือนสิงหาคม - กันยายน 2560 แบ่งเป็น ดาร์กช็อกโกแลต จำนวน 10 ตัวอย่าง และช็อกโกแลตประเภทอื่น ๆ อีก 9 ตัวอย่าง
ผลการทดสอบมีเพียงตัวอย่างเดียว ที่ไม่พบตะกั่วและแคดเมียมเลย คือ ลินด์ สวิส คลาสสิค ไวท์ ช็อกโกแลต (Lindt Swiss Classic White Chocolate) ขณะที่อีก 18 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของตะกั่วและ/หรือแคดเมียม โดยเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานตะกั่ว ทั้งในและต่างประเทศ พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง แต่ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนสารแคดเมียม โดยพบตัวอย่างที่ปนเปื้อนดังนี้
พบการปนเปื้อนทั้งแคดเมียมและตะกั่ว จำนวน 8 ตัวอย่าง
1) ลินด์ เอ็กเซลเลนท์ ดาร์ก 85% โกโก้ (Lindt Excellence Dark 85% Cocoa)
2) ทอปเบอโรน (Toblerone) ดาร์ก ช็อกโกแลต ผสมน้ำผึ้งและอัลมอนด์ นูกัต
3) เบอรีล 80% คาเคา ดาร์กช็อกโกแลต (Beryle’s 80% CACAO dark Chocolate coklat hitam)
4) กีเลียน เบลเจี้ยน ช็อกโกแลต ดาร์ก 72% (GuyLian Belgian Chocolate Dark 72%)
5) ริตเตอร์ สปอร์ต 50% โกโก้ ดาร์ก ช็อกโกแลต (Ritter Sport 50% Cocoa Dark chocolate with fine cocoa from papua new Guinee)
6) ล็อกเกอร์ ดาร์ก-นอร์ ((Loacker Dark-Noir) (Dark Chocolate with cocoa cream filling and crispy wafer))
7) เฮอร์ชี่ ดาร์ก ช็อกโกแลต (Hershey’s Dark chocolate)
8) คินเดอร์ บูเอโน่ ดาร์ก ลิมิเต็ด อีดิทชั่น (kinder Bueno Dark limited Edition)
พบการปนเปื้อนเฉพาะแคดเมียมจำนวน 10 ตัวอย่าง
1) ลอตเต้ กานา แบล็ค ช็อกโกแลต เอ็กตร้า โกโก้ (Lotte Ghana Black Chocolate Extra cocoa)
2) เบอรีล อัลมอนด์ (Beryl’s Almond)
3) ยูไนเต็ด อัลมอนด์ ไวท์ แอนด์ ดาร์ก ช็อกโกแลต (UNITED Almond White Chocolate & Dark Chocolate)
4) ล็อตเต้ กานา เอ็กตร้า คาเคา แบล็ค (LoTTE Ghana Extra Cacao Black)
5) มอรินากะ ดาร์ส ดาร์ก ช็อกโกแลต (morinaga DARS dark chocolate)
6) เนสท์เล่ คิทแคท (nestle KitKat) ช็อกโกแลตนมสอดไส้เวเฟอร์
7) โนเบิลไทม์ (NOBLE TIME)
8) เฟอเรโร รอชเชอ (Ferrero Rocher) ช็อกโกแลตนมผสมเกล็ดเฮเซลนัทสอดไส้ครีมและเฮเซลนัท
9) ทวินช็อกฮาร์ท (TWIN-CHOCK HEART)
10) เฮอร์ เว่ย แดรี่ มิลค์ (HER WEI Dairy Milk) (ดูผลทดสอบละเอียดในนิตยสารฉลาดซื้อ)
iStock
“ในต่างประเทศ ผลการทดสอบขององค์กร As You Sow ที่ทดสอบพบช็อกโกแลต 18 ยี่ห้อดัง มีตะกั่วหรือแคดเมียมในระดับอันตราย ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับคนที่ชอบกินช็อกโกแลตเป็นอย่างมาก ยิ่งช็อกโกแลตมีปริมาณโกโก้แมส มาก ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะพบโลหะหนักทั้งสองชนิดดังกล่าวมากขึ้น ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้สุ่มทดสอบช็อกโกแลตยี่ห้อดังในตลาด เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคว่าช็อกโกแลตยี่ห้อไหนมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมากน้อยเพียงใด เพราะปัจจุบันสินค้าเหล่านี้วางขายทั่วไปแม่แต่ร้านสะดวกซื้อซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย”
“แม้ว่าจะไม่มีตัวอย่างใดพบการตกค้างตะกั่วจนเกินค่ามาตรฐาน แต่จากการอ่านฉลากพบว่า มี 2 ตัวอย่างที่ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทย และไม่มีการแสดงเลขสารบบอาหาร ได้แก่ เบอรีล อัลมอนด์ (Beryl’s Almond) และ เฮอร์ เว่ย แดรี่ มิลค์ (HER WEI Dairy Milk) ซึ่งทั้งสองตัวอย่างผลิตในประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ การไม่แสดงฉลากภาษาไทยเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 6 (10) และมีโทษตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 คือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท ส่วนการไม่แสดงเลขสารบบอาหาร มีความเป็นไปได้ว่านำเข้าอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 15) ซึ่งมีบทลงโทษคือ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 53)
นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “การปนเปื้อนของโลหะหนักในผลิตภัณฑ์อาหารไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2527) ซึ่งได้กำหนดให้ปริมาณสารตะกั่วที่ตรวจพบในช็อกโกแลตต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) แต่หากเป็นช็อกโกแลตชนิดไม่หวาน ตรวจพบได้ไม่เกิน 2 มก./กก. แต่สำหรับแคดเมียมในช็อกโกแลตนั้น ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์เอาไว้”
“แม้ว่าผลทดสอบการปนเปื้อนโลหะหนัก 2 ชนิด ในช็อกโกแลตดังกล่าวจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่สารโลหะหนักเหล่านี้สามารถสะสมในร่างกายได้ ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องระมัดระวังการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของช็อกโกแลต ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพหากรับประทานในปริมาณมากหรือบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเด็กที่อ่อนไหวเป็นพิเศษต่อสารปนเปื้อนโลหะหนัก”
เรื่องของปริมาณโกโก้ในช็อกโกแลต ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2527) เรื่อง ช็อกโกแลต ได้กำหนดคุณภาพและมาตรฐานเฉพาะของช็อกโกแลตแต่ละชนิดเอาไว้ สำหรับช็อกโกแลตนม ซึ่งเป็นชนิดของช็อกโกแลตที่เราเลือกสุ่มเก็บมาเป็นตัวอย่างในการตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้ มีการกำหนดคุณภาพไว้ว่าต้องมีปริมาณโกโก้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของปริมาณช็อกโกแลต โก้โกปราศจากไขมันไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 มีธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10.5 และต้องมีน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 55
แต่ที่อยากฝากไว้เป็นข้อสังเกตของคนที่ชอบช็อกโกแลตก็คือ เมื่อดูปริมาณส่วนประกอบทั้งหมดในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตนั้นยังมีส่วนประกอบที่เป็นน้ำตาล เพราะฉะนั้นถ้าหากรับประทานมากๆ ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพแน่นอน ปริมาณแคลอรีของพลังงานจากการกินอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วันคือ 1,600 – 2,000 กิโลแคลอรี และเราไม่ควรบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งตามที่นักโภชนาการแนะนำคือ ไม่ควรเกิน 24 กรัม/วัน หรือ 6 ช้อนชา/วัน เพราะน้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่งที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย โดยหากเราบริโภคมากเกินไป สามารถเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคอ้วนหรือฟันผุ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ รวมทั้งโรคไขมันในเลือดสูงได้ นอกจากนี้ช็อกโกแลตมีสารคาเฟอีนด้วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนติดช็อกโกแลต
ด้านนางสาวอัฏฐพร ฤทธิชาติ นักวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ การได้รับสารตะกั่วและสารแคดเมียม ในระยะยาวจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มทารกในครรภ์และเด็ก ซึ่งสารโลหะหนักทั้ง 2 ชนิดนี้จะส่งผลเสียหายต่อการเจริญเติบโตของระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของเด็กที่คล้ายกัน กล่าวคือ ทำให้ระดับสติปัญญาด้อยลง ผลการเรียนตกต่ำ สมาธิสั้น และก้าวร้าว และก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายด้วย เช่น ระบบสืบพันธุ์ ตับ ไต และระบบการสร้างเม็ดเลือด
ส่วนด้านการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การอนามัยโลก กำหนดให้แคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยมีหลักฐานยืนยันว่าทำให้เกิดมะเร็งปอด และมีหลักฐานอย่างจำกัดว่าทำให้เกิดมะเร็งที่ไตและต่อมลูกหมาก และกำหนดให้สารประกอบของตะกั่วเป็นสารที่น่าจะก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์
ทั้งนี้ สารตะกั่วและแคดเมียมถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท จึงก่อให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและการดูดซึมสารโลหะหนักของพืชได้ ดังนั้น การควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวด จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับแหล่งอาหารของเราได้