7 วิธีลดความเสี่ยง “มะเร็งเต้านม”
หนึ่งในโรคที่ผู้หญิงกลัวจะเป็นการมากที่สุด หนีไม่พ้นโรคมะเร็งเต้านมที่ทำเอาผู้หญิงหลายคนโอดครวญเมื่อต้องตัดเต้านมเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคมะเร็งเต้านมจะยังหาสาเหตุของโรคที่แน่ชัดไม่ได้ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงของโรคในทุกทางที่เป็นไปได้ และสามารถทำตามได้ง่ายๆ อีกด้วย
- งดการสูบบุหรี่
งานวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 102,098 คนในประเทศนอร์เวย์ และสวีเดน พบว่า คนที่สูบบุหรี่มากกว่า 10 มวนต่อวันเป็นเวลามากกว่า 20 ปี มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ เกือบ 50% ของผู้หญิงที่เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 15 ปีก็มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเช่นเดียวกัน
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในมาตรฐาน
เมื่อไรก็ตามที่น้ำหนักตัวมากกว่าค่า BMI เมื่อนั้นก็หมายความว่าคุณกำลังมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะคนที่ “อ้วนลงพุง” เพราะการที่คุณมีไขมันที่หน้าท้องมากเกินไป เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายที่น้อยเกินไป รวมไปถึงการผลิตฮอร์โมนต่างๆ ที่อาจไม่ปกติ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิง ที่อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมได้
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์
ผู้หญิงมากกว่า 40% ที่ดื่มแอลกอฮอล์ราว 2-5 แก้วต่อวัน มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และถึงแม้ว่าจะดื่มเพียงแค่วันละแก้ว ก็ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้ราวๆ 7% เช่นกัน
- เลือกทานอาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหาร
เน้นทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผักผลไม้สดๆ ธัญพืชต่างๆ ผักผลไม้ที่แนะนำเป็นพิเศษ คือผักผลไม้สีแดง-ส้ม-เหลือง เช่น แครอท มันเทศ แคนตาลูป มะเขือเทศ และผักผลไม้สีเขียวเข้ม เช่น ผักปวยเล้ง คะน้า เป็นต้น
- ทานเนื้อแดง ไขมันเลว และน้ำตาลให้น้อยลง
การลดการทานโปรตีนจากเนื้อแดง และเนื้อสัตว์แปรรูปให้น้อยลง รวมไปถึงอาหารที่มีไขมันเลว และน้ำตาลสูง จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน เบาหวาน สอดคล้องกับน้ำหนักตัวที่ได้มาตรฐาน ที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมได้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ไม่เพียงแค่ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งทุกชนิด แต่การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้เร็วขึ้น และยังเป็นตัวช่วยที่ดีที่ทำให้เราได้รักษาน้ำหนักตัวตามมาตรฐานได้เรื่อยๆ อีกด้วย การออกกำลังกายที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องไปวิ่งบนลู่วิ่ง หรือเข้าฟิตเนสเสมอไป เริ่มได้ง่ายๆ จากการเดินให้มากขึ้น ใช้บันไดให้บ่อยขึ้น ลุกขึ้นมาทำงานบ้าน ขยับร่างกาย ใช้พลังงานในแต่ละวันให้มากขึ้น และควรทำติดต่อกันอย่างน้อย 30 นาทีเป็นต้นไป เพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญพลังงานได้มากพอกับการบริโภคอาหารในหนึ่งวัน
- ตรวจหามะเร็งเต้านมหากมีความเสี่ยง
ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 30-35 ปีเป็นต้นไป รวมถึงคนที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติว่าเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน ควรเข้ารับการตรวจหามะเร็งเต้านมเสียแต่เนิ่นๆ อาจจะไม่ใช่วิธีป้องกันโรค แต่จะเป็นวิธีช่วยให้พบว่าเป็นโรคได้เร็วขึ้น เพื่อการรักษาที่ง่ายขึ้น มีโอกาสหายจากโรคสูงขึ้นนั่นเอง