กินผัก 5 สีให้ "เจ" นี้ไม่จำเจ
เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ ไปจนกระทั่งขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 นับเป็นเทศกาลกินเจของชาวไทยเชื้อสายจีน หรือผู้ที่อยากละเว้นการกินเนื้อสัตว์เพื่อสร้างกุศล
เทศกาลกินเจ หรือ เทศกาลถือศีลกินผัก คือการละการกินเนื้อสัตว์ทุกชนิด และปฏิบัติธรรม รักษาศีล ที่จะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และก่อให้เกิดสันติสุขแก่ทุกชีวิตบนโลก และแน่นอนว่าเทศกาลกินเจเราเน้นการกินผักและผลไม้เป็นพิเศษ โดยในปีนี้ ทางเว็บไซต์ สสส. ขอนำเสนอแนวทางการกินผักผลไม้ที่จะทำให้ผู้กินเจได้รับใยอาหารและวิตามินครบถ้วนจากการกินผักทั้ง 5 สี
คุณค่าของผักผลไม้ 5 สี
ผักและผลไม้อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ มีแร่ธาตุและวิตามินมากมาย แถมยังจัดว่าเป็นอาหารที่มีไฟโตนิวเทรียนท์สูง หรือ สารพฤกษาเคมี หมายถึง สารอาหารที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ต้องได้รับจากพืชเท่านั้น ที่มีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อม กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และช่วยป้องกันการติดเชื้อและการเกิดโรคต่างๆ
1. สีเขียว ให้สารคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันเซลล์ถูกทำลาย ขจัดฮอร์โมน ช่วยในการต่อต้านโรคมะเร็ง ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส ยับยั้งการเกิดริ้วรอย นอกจากนี้การกินผักใบเขียวเป็นประจำจะช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีด้วย
ผักและผลไม้ที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว เช่น ผักบุ้ง ผักโขม ผักปวยเล้ง ผักกาดหอม ผักคะน้า แตงกวา ตำลึง แอปเปิ้ลเขียว ฝรั่ง เป็นต้น
2. สีเหลือง/ส้ม ให้สารลูทีน (Lutein) เบต้าแคโรทีน (Beta-Carotene) มีประโยชน์ในการช่วยรักษาสุขภาพของหัวใจ หลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย บำรุงสายตา
ผักและผลไม้ที่อยู่ในกลุ่มสีเหลือง/ส้ม เช่น แครอต ฟักทอง มันเทศ ส้ม มะละกอ เสาวรส มะนาว สับปะรด ขนุน และข้าวโพด เป็นต้น
3.สีม่วง/น้ำเงิน ให้สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ยับยั้งเชื้อที่จะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ
ผักและผลไม้ที่อยู่ในกลุ่มสีม่วง/น้ำเงิน เช่น มันเทศสีม่วง หอมแดง กะหล่ำสีม่วง มะเขือม่วง ดอกอัญชัน ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เป็นต้น
4. สีขาว/น้ำตาลอ่อน ให้สารแซนโทน (Xanthone) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ช่วยลดอาการอักเสบ รักษาระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีกรดไซแนปติก (Synaptic acid) และ อัลลิซิน (Allicin) โดยสารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดไขมันในเลือด ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตและโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผักและผลไม้ที่อยู่ในกลุ่มสีขาว/น้ำตาล เช่น ขิง ข่า กระเทียม กุยช่าย ขึ้นฉ่าย เห็ด ลูกเดือย หัวไชเท้า ดอกกะหล่ำ ถั่วงอก กล้วย สาลี่ พุทรา ลิ้นจี่ ละมุด แห้ว เป็นต้น
5.สีแดง มีสารไลโคปีน (Lycopene) และ เบตาไซซีน (Betacycin) มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระมากกว่าวิตามินอีถึง 100 เท่า และมากกว่ากลูตาไธโอนถึง 125 เท่า สารไลโคปีนช่วยป้องกันการเกิดดมะเร็งตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
ผักและผลไม้ที่อยู่ในกลุ่มสีแดง เช่น มะเขือเทศ บีทรูท แตงโม กระเจี๊ยบแดง หอมแดง พริกหวาน เป็นต้น
เราอยู่ในทศวรรษที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงวัฒนธรรมการกินที่คนหันมากินอาหารจานด่วนทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง (NCDs) โดยสนับสนุนให้ประชาชนกินผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ สสส.และภาคีเครือข่ายได้รณรงค์เรื่องนี้อย่างเข้มข้นด้วยการขับเคลื่อนด้านวิชาการ สร้างสื่ออันส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่งเสริมเรื่องของการปลูก ตลอดจนการจำหน่าย เช่น โครงการผักสีเขียว โครงการสวนผักคนเมือง ฯลฯ ทำให้คนไทยมาสุขภาพที่แข็งแรงและลดความสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
เทศกาลกินเจปีนี้ขอให้กินเจออย่างสุขภาพดี อิ่มบุญ และอิ่มใจกันนะคะ
อ่านเรื่องราวเทศกาลกินเจ เพิ่มเติมได้ที่
- “กินเจ” ได้บุญจริงหรือไม่? แล้วทำไมถึงได้บุญ!
- เคาะประตูสวรรค์สักการะ “กิ้วอ๊วงฮุกโจ้ว” (ขุนพล 9 พระองค์) แห่งเทศกาลกินเจ
- กินเจอย่างไร ให้ได้บุญสูงสุด
- ข้อห้ามการกินเจ การกินเจที่ถูกต้อง และผักฉุนที่ห้ามกิน
- บทสวดมนต์ขอพรเจ้าแม่กวนอิม “ช่วงเทศกาลกินเจ” สิริมงคลแก่ชีวิต
- “หมอช้าง” แนะ 9 วันกินเจ รับพลังดวงดาวทั้ง 9
- ไขข้อสงสัย ทำไมม้าทรงต้องทรมานร่างกายช่วงกินเจ
- เทศกาลกินเจ 2564 การปฏิบัติตัว แนะนำอาหารเจ
- จริงหรือไม่? กินเจห้ามออกกำลังกาย
- กินเจ อะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้บ้าง?
- “กินเจ” ตามราศีเพื่อเสริมดวง อิ่มใจและสุขภาพดีถึงขีดสุด
- รวมเมนูอาหารเจ ไม่จำเจ ทำเองได้ ไม่ง้อร้าน
- กินผัก 5 สีให้ "เจ" นี้ไม่จำเจ
- เทศกาลกินเจ 2564 เตรียมตัวให้พร้อมกับเทศกาลกินเจ
- 5 วิธีกินเจแบบผิดๆ เสี่ยงโรคไต-โรคหัวใจ
- กินเจอย่างไรไม่ให้อ้วน และไม่ขาดสารอาหาร
- ผักดิบ ทานมากเกินไปก็อันตรายต่อร่างกาย