“แตงโม” กินอย่างไรให้ปลอดภัย
“แตงโม” ถือเป็นผลไม้ยอดนิยมในเมืองร้อนอย่างบ้านเรา เพราะเป็นผลไม้ที่ประกอบด้วยน้ำมากถึง 92 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้รู้สึกสดชื่น คลายร้อนได้เป็นอย่างดี
แต่จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์เรื่องกินแตงโมแล้วอาหารเป็นพิษเนื่องจากมีสารเคมีมากเกินไป และมีผู้เข้ามารีทวิตกว่า 38,000 ครั้ง รวมถึงแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากนั้น ทำให้หลายคนมองว่า การกินแตงโมไม่ปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม จากผลการตรวจสอบผักและผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างประจำปี 2559 โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN :Thailand Pesticide Alert Network) กลับพบว่าแตงโมมีสารพิษตกค้างเป็น 0% หรือไม่มีสารพิษตกค้างแต่อย่างใด
สอดคล้องกับที่ “หมอแมว” นายแพทย์พิรัตน์ โลกาพัฒนา เจ้าของเพจดัง “ความรู้สนุกๆ แบบหมอแมว” ระบุในทวิตเตอร์ @mor_maew ว่า “เท่าที่อ่านดูอาการอาหารเป็นพิษจากสารเคมีพบได้ไม่บ่อย และมักมีอาการที่มากกว่าท้องเสียหรืออาเจียน คือมีอาการเหมือนถูกพิษชัดเจน” และ “ในงานวิจัย ของไทย ก็พบว่าสารเคมีที่ตกค้างในเนื้อแตงโม มีปริมาณไม่ได้สูงมาก”
ส่วนหนึ่งในข้อสงสัยที่มีความน่าจะเป็นมากที่สุดคือ การปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย “อีโคไล” ทั้งที่มาจากเปลือกแตงโม , จากน้ำที่ใช้ล้างแตงโม หรือจากคนที่หั่นแตงโมขาย
ทั้งนี้ “อีโคไล” มีชื่อเต็มๆว่า “เอสเชอริเชีย โคไล” (Escherichia coli) เป็นเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นที่พบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์เลือดอุ่นทั่วไป จึงตรวจพบได้จากอุจจาระในปริมาณมาก โดยปกติแล้วอีโคไลประจำถิ่นเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ก่อโรค แต่อาจฉวยโอกาสก่อโรคในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้
แต่อีโคไลชนิดที่ก่อโรค เป็นสาเหตุให้เกิดโรคอุจจาระร่วงหรือท้องร่วงได้ ซึ่งเชื้อจะก่อโรคได้เมื่อเข้าสู่ร่างกายโดยการกินอาหาร และน้ำที่ปนเปื้อนเชื้ออีโคไลเหล่านี้เข้าไป
อย่างไรก็ตาม แตงโมเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์มาก เพราะมีปริมาณไลโคปีนสูง จึงช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ช่วยป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว และช่วยลดระดับความดันโลหิตได้ อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง และอุดมไปด้วยวิตามินเอ และวิตามินซีด้วย
ดังนั้น คนที่ชอบกินแตงโมก็คงไม่ถึงกับต้องเลิกกินแต่อย่างใด ขอแค่บริโภคในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป เพราะในแต่ละวันนั้นร่างกายควรได้รับไลโคปีนไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งหากบริโภคไลโคปีนมากจนเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดอาการคลื่นเหียน อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืด หรืออาหารไม่ย่อยได้
นอกจากนี้ ก็ควรมีสุขอนามัยที่ดี เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับแตงโมด้วย ซึ่งเรื่องนี้ “หมอแมว” ได้ให้คำแนะนำไว้ในทวิตเตอร์ @mor_maew ไว้ดังนี้
1. เลือกซื้อที่เป็นลูกๆ มาหั่นเอง แทนการซื้อแบบหั่นสำเร็จแล้ว หรือไม่เช่นนั้นต้องเลือกแบบที่หั่นแล้วแช่เย็น
2. ล้างเปลือกแตงโมทุกครั้งก่อนการผ่า ล้างให้สะอาด ถ้าเป็นไปได้ใช้น้ำยาล้างจานล้างเบาเบา เพื่อเอาเศษดินออกให้มากที่สุด เพราะมีรายงานว่าเชื้อบางชนิดสามารถก่อไบโอฟิล์ม ทำให้ยึดติดกับเปลือกได้ โดยล้างไม่ค่อยออก
3. ผ่าแล้วกินทันที การล้างเปลือกมีบางรายงานระบุว่า ช่วยได้ไม่มากโดยเฉพาะผลไม้กลุ่มเมล่อน เพราะล้างยังไงก็ไม่หมดจด
4. เลือกซื้อจากคนขายที่รักษาความสะอาดและถ้าเราผ่าเองเราก็ต้องรักษาความสะอาดด้วย