รู้จักน้ำตาที่เป็นมากกว่าน้ำใสๆ นอกจากเอาไว้ร้องไห้แล้ว น้ำตามีไว้เพื่ออะไรกันนะ?
ธรรมชาติไม่ได้สร้างน้ำตามาให้มนุษย์ใช้ร้องไห้อย่างเดียวแน่นอน!
มาทำความรู้จักเจ้าหยดน้ำใสๆ ที่สำคัญกับดวงตาอย่างยิ่งในมุมที่หลายคนไม่เคยรู้ ผ่านคำถามที่คุณเคยต้องสงสัยกันบ้างแหละว่า น้ำตาคนเรามีประโยชน์ไว้แค่ใช้ร้องไห้เท่านั้นจริงหรือ?
น้ำตา...ก็แค่ ‘น้ำ’ ที่ไหลออกมาจากตา?
ผิดถนัด! น้ำตาไม่ใช่น้ำจากตาที่ไหลออกมาเฉพาะเวลาร้องไห้เท่านั้น แม้ในเวลาปกติดวงตาของเราก็มีน้ำตาหล่อเลี้ยงตลอดเวลาอยู่แล้ว โดยดวงตาของคนปกติจะผลิตน้ำตาออกมาราว 5-10 ออนซ์ต่อวัน ไม่ว่าวันนั้นคุณจะร้องไห้อย่างหนักหน่วงหรือไม่ได้ร้องไห้เลยก็ตาม
นอกจากนี้ แม้จะเป็นของเหลวเหมือนกัน แต่น้ำตาไม่เหมือนน้ำเปล่า น้ำตาเป็นสารคัดหลั่งชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายฟิล์ม หรือที่เรียกว่า “แผ่นน้ำตา” หรือ “ฟิล์มน้ำตา” (Tear film) ในน้ำตาประกอบด้วยสารสำคัญหลายชนิด เช่น ไขมัน เกลือแร่ โปรตีน รวมไปถึงสารภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และเอนไซม์ต่างๆ ที่ช่วยฆ่าเชื้อโรคที่จะทำอันตรายแก่ดวงตา ซึ่งถ้าว่ากันตามส่วนประกอบทางชีวเคมีดังกล่าวแล้ว น้ำตานั้นคล้ายน้ำลายทีเดียว!
น้ำตามีการ “แบ่งชั้น” กับเขาเหมือนกัน
แม้โลกเราจะเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยมานานแล้ว แต่สำหรับน้ำตามนุษย์...ไม่ว่าจะยุคไหน ก็มีการ “แบ่งชั้น” อยู่ตลอดเวลา! ไม่เชื่อลองตัดขวางฟิล์มน้ำตาในแนวตั้งแล้วส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบว่าฟิล์มน้ำตาประกอบด้วย 3 ชั้น!
ชั้นนอก: ชั้นไขมัน (Lipid layer)
เป็นชั้นไขมันที่เคลือบอยู่ชั้นนอกสุด ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำตาระเหยง่ายและสามารถหล่อเลี้ยงอยู่ในดวงตาได้นาน ทั้งยังทำหน้าที่ในการหักเหแสง และสร้างแรงตึงผิว ทำให้น้ำตาทั้งหมดสามารถฉาบติดอยู่ที่ผิวด้านนอกของตาได้โดยไม่ไหลออกจากตา
ชั้นกลาง: ชั้นสารน้ำ (Aqueous layer)
เป็นชั้นที่หนาที่สุด ประกอบด้วยน้ำเป็นสำคัญ และสารต่างๆ เช่น เกลือแร่ โปรตีน รวมไปถึงสารภูมิคุ้มกันโรค และเอนไซม์ไลโซโซมที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค
หน้าที่ของน้ำตาชั้นนี้ คือ ให้ออกซิเจนแก่กระจกตา ปรับระดับเกลือแร่ในน้ำตาให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้ดวงตาระคายเคือง ชะล้างสิ่งสกปรก และฆ่าเชื้อโรคด้วยเอนไซม์ อีกทั้งยังสามารถปรับผิวตาดำให้เรียบเมื่อตาดำมีแผลขรุขระเล็กน้อย เพื่อให้มองเห็นได้ดีขึ้น
ชั้นใน: ชั้นเมือก (Mucin layer)
ประกอบเป็นสารหลายชนิด เช่น เมือก โปรตีน และเกลือแร่ โดยเมือกที่สร้างขึ้นนั้นมีคุณสมบัติจับน้ำได้ดี ทำให้น้ำตาชั้นสารน้ำสามารถเกาะติดกับกระจกตาได้ อีกทั้งช่วยเกาะจับกับชั้นไขมันของน้ำตาชั้นนอกเพื่อให้ชั้นน้ำตาทั้ง 3 ชั้นสามารถยึดติดกันได้ นอกจากนี้ชั้นเมือกยังช่วยให้กระจกตาเรียบ และช่วยหล่อลื่นผิวดวงตาด้านหน้าอีกด้วย
เสียน้ำตาให้กับหัวหอม ดีกว่าเสียน้ำตาให้คนจอมปลอม...จริงหรือ?
ถ้าคิดว่าน้ำตาจากการหั่นหัวหอมนั้นก็ไม่ได้ต่างอะไรกับน้ำตาที่หลั่งออกมาเพราะความเศร้า ขอบอกว่าคุณเข้าใจผิดแล้ว เพราะแท้จริงแล้ว น้ำตามีถึง 3 ชนิดด้วยกัน!
1. น้ำตาหล่อลื่น (Basal Tears)
เป็นน้ำตาที่หล่อเลี้ยงลูกตาให้ชุ่มชื้น ลดการฝืดเคืองขณะกะพริบตา และช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น
2. น้ำตากำจัดสิ่งระคายเคือง (Reflex Tears)
น้ำตาชนิดนี้จะหลั่งออกมาเมื่อดวงตาถูกบุกรุกหรือถูกกระตุ้น เช่น มีฝุ่นละอองหรือควันปลิวเข้าตา ถูกลมเป่า ถูกจิ้มตา รวมไปถึงการจามและการหาว ก็ทำให้น้ำไหลออกมาได้ เช่นเดียวกับการหั่นหัวหอมที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ดวงตาก็จะหลั่งน้ำตาออกมาเพื่อบรรเทาอาการและชะล้างสิ่งสกปรกออกจากดวงตา
3. น้ำตาจากอารมณ์ (Emotional Tears)
อารมณ์ที่เข้มข้นทั้งด้านสุขและด้านเศร้า สามารถกระตุ้นให้ดวงตาหลั่งน้ำตาออกมาได้เช่นกัน จากงานวิจัยพบว่า น้ำตาที่มาจากความทุกข์นั้นประกอบด้วยสารเคมีในสมองที่ทำให้รู้สึกตึงเครียดมากที่สุด ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงรู้สึกดีขึ้นหลังจากร้องไห้ เพราะร่างกายได้ขับความตึงเครียดออกมากับน้ำตาแล้วนั่นเอง
มีน้ำตาว่าเศร้าแล้ว ไม่มีน้ำตายิ่งเศร้ากว่า!
น้ำตามีความสำคัญมากกว่าเอาไว้ร้องไห้ระบายความรู้สึก พวกมันช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้นอยู่เสมอ คอยหล่อลื่นไม่ให้ดวงตาเสียดสีกับเปลือกตา ช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น ทั้งยังคอยกำจัดสิ่งแปลกปลอมและสิ่งสกปรกที่จะทำอันตรายดวงตา หากคนเราไม่มีน้ำตา ดวงตาจะแห้งผาก แสบระคาย การมองเห็นเสื่อมถอยลง ถ้านึกภาพไม่ออกก็ลองนึกถึงตอนถูกลมแรงเป่าใส่ตาจนตาแห้ง หรือวันหฤโหดอันแสนยาวนานที่ต้องจ้องหน้าคอมอยู่ทั้งวันดู ทั้งปวดตา เมื่อยตา ตาล้า และแสบตาใช่หรือไม่?
นี่ไง...แล้วจะรู้ว่าวันใดขาดน้ำตาแล้วจะรู้สึก!
ดูแลแคร์น้ำตา
เมื่อน้ำตาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ขนาดนี้ อย่าลืมดูแลดวงตาให้มีน้ำตาหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ ด้วยการหมั่นกะพริบตาบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมที่ทำให้น้ำตาระเหยง่าย เช่น การใช้สายตานานๆ โดยไม่พักสายตา (ไม่ว่าจะเล่นเกม อ่านการ์ตูน หรือทำงานหน้าคอมฯ) ตลอดจนอยู่ในที่ที่มีลมแรงโดยไม่สวมแว่นกันลม พร้อมกับอย่าลืมจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายมีวัตถุดิบไปผลิตน้ำตาด้วย
และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด อย่าลืมไปพบจักษุแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายตา หรือ “นักทัศนมาตร” ด้วย เพื่อค้นหาอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าสายตาที่เปลี่ยนไป หรือโรคตาต่างๆ รวมไปถึงเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องสำหรับสุขภาพที่ดีของดวงตา
เห็นมั้ยว่า ธรรมชาติไม่ได้สร้างของเหลวใสเล็กๆ ที่ซับซ้อนนี้ขึ้นมา เพื่อให้มนุษย์เราใช้ร้องไห้อย่างเดียวเท่านั้น แต่มอบบทบาทที่สำคัญยิ่งในการปกป้องประสาทสัมผัสการมองเห็นซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เปิดโลกทัศน์ให้มนุษย์อย่างเรา
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาสนใจเทคแคร์น้ำตาหยดเล็กๆ ผู้ปิดทองหลังพระ เพื่อช่วยถนอมและรักษาสุขภาพดวงตาให้ดี จะได้อยู่คู่กับเราได้นานๆ
รอติดตามเทคโนโลยีคอนแทคเลนส์ชนิดใหม่ ที่มีคุณสมบัติ ”เข้ากันดีกับชั้นน้ำตา” พร้อมอัพเดตทิปส์ การดูแลสุขภาพดวงตาและทุกเรื่องราวเกี่ยวกับคอนแทคเลนส์ ได้ที่เพจ Johnson & Johnson Vision
กดติดตาม Johnson & Johnson ได้เลยที่ Facebook : Johnson & Johnson vision >> www.facebook.com/JJVisionCareThailand
ค้นหาสาขาร้านเพื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสายตา และทดลองคอนแทคเลนส์นวัตกรรมล่าสุด คลิก https://goo.gl/78Gf2W
[Advertorial]