อาหารเสี่ยง “ท้องร่วง” ที่ดูเหมือนปลอดภัย แต่จริงๆ แฝงอันตรายเพียบ
หากนึกถึงอาหารที่ทำให้ท้องร่วงกันได้ง่ายๆ แล้ว คนไทยมักนึกถึงอาหารที่มีรสชาติจัดจ้านอย่างส้มตำ ปูดอง กุ้งแช่น้ำปลา หรืออาหารทะเลที่ทานกันสดๆ รวมไปถึงลาบก้อย ลาบเลือด อาหารอีสานที่มีการปรุงด้วยเลือดของสัตว์สดๆ ไม่ผ่านความร้อน (หรือผ่านความร้อนน้อยมาก) ด้วยความไม่สะอาด ไม่สดอย่างเพียงพอของส่วนผสม จึงทำให้เกิดโรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษได้
แต่จริงๆ ยังมีอาหารที่ดูเหมือนจะปลอดภัย แต่จริงๆ แฝงอันตรายเอาไว้ด้วย เพราะอาหารเหล่านี้อาจมีเชื้อ “ซาลโมเนลลา” อยู่นั่นเอง
ซาลโมเนลลา คืออะไร?
ซาลโมเนลลา เป็นหนึ่งในแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร จนทำให้เกิดอาหารท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ ไปจนถึงลำไส้อักเสบได้
ซาลโมเนลลา มีความอันตรายตรงที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิปานกลาง อุณหภูมิห้องในเมืองไทย และยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีในร่างกายของมนุษย์ และสัตว์เลือดอุ่น โดยอุณหภูมิที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อซาลโมเนลลา คือ 30-45 องศาเซลเซียส
อาการติดเชื้อจากซาลโมเนลลา
หลังจากรับเชื้อเบคทีเรียเข้าไปในร่างกายราว 12-72 ชั่วโมง ผู้ป่วยอาจแสดงอาการดังนี้
- ท้องเสีย ท้องร่วง อาจมีเลือดปน
- ปวดท้อง มวนท้อง
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้อาเจียน
- เบื่ออาหาร
นอกจากนี้ยังอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น โรคไข้รากสาดน้อย ระบบทางเดินอาหาร เลือด กระดูก ข้อ ระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง และไขสันหลัง) และอวัยวะภายในอื่นๆ เป็นต้น
อาหารที่อาจพบเชื้อซาลโมเนลลา ได้แก่
- ไข่ไก่
- เนื้อสัตว์
- สัตว์ปีก
- นม
- ผลิตภัณฑ์จากนมอื่นๆ
- ปลา
- กุ้ง
- ขากบ
- ยีสต์
- น้ำสลัด
- แป้งเค้กผสม
- ขนมหวานไส้ครีม
- เจลาตินแห้ง
- เนยถั่ว
- โกโก้
- ช็อกโกแลต
- หอยแมลงภู่
- ปลาหมึก
- กุ้งแห้ง
วิธีหลีกเลี่ยงเชื้อซาลโมเนลลา
เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา ควรเลือกซื้อผลิจตภัณฑ์ปรุงอาหารต่างๆ ที่ใหม่สดสะอาด จากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ เก็บรักษาโดยแยกเนื้อดิบ และสุก รวมถึงขั้นตอนในการล้าง หั่น ควรแยกอุปกรณ์ที่ใช้ระหว่างเนื้อดิบ สุก และผักผลไม้สดออกจากกัน และควรปรุงอาหารให้สุกทั่วกันทั้งชิ้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อซาลโมเนลลาได้