โรคอันตรายยอดฮิต จากคอนแทคเลนส์ และจอคอมพิวเตอร์-สมาร์ทโฟน

โรคอันตรายยอดฮิต จากคอนแทคเลนส์ และจอคอมพิวเตอร์-สมาร์ทโฟน

โรคอันตรายยอดฮิต จากคอนแทคเลนส์ และจอคอมพิวเตอร์-สมาร์ทโฟน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากสถิติรายงานโรคตาของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ พบว่า โรคทางตาที่พบมากขึ้นในสังคมไทย คือ การติดเชื้อที่กระจกตาจากคอนแทคเลนส์ และโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome) ซึ่งมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับสาเหตุของการตาบอดและสายตาเลือนรางในประเทศไทย พบปัญหา 4 อันดับแรก คือ อันดับแรก คือ โรคต้อกระจก มีมากถึงร้อยละ 69.7  รองลงมา คือ โรคทางจอประสาทตา ร้อยละ 13.2  โรคต้อหินและโรคความผิดปกติทางสายตา ร้อยละ 4 

 

การติดเชื้อที่กระจกตา

การติดเชื้อที่กระจกตา เกิดจากการใช้คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการตาแดง ปวดตา ตามัว น้ำตาไหล มองสู้แสงไม่ได้ มีขี้ตา เปลือกตาบวม และอาจเห็นจุดสีขาวอยู่บนกระจกตาได้ ซึ่งหากไม่ได้ทำการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น จุดขาวที่เกิดขึ้น จะลุกลามเกิดเป็นหนองสีขาวในช่องหน้าลูกตา ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่ดวงตา เช่น กระจกตาทะลุ ต้อหิน ต้อกระจก ไปจนถึงตาบอด

สำหรับการลดความเสี่ยงการติดเชื้อที่ดวงตา  สามารถทำได้โดยผู้ป่วยต้องดูแลรักษาเลนส์อย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ ห้ามไม่ให้เลนส์สัมผัสกับน้ำทั่วไป ต้องเป็นน้ำยาที่ใช้สำหรับคอนแทคเลนส์เท่านั้น ไม่ใส่เลนส์เกินอายุการใช้งานที่ระบุไว้ข้างกล่อง ไม่ใช้คอนแทคเลนส์มือสอง ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ขณะหลับและควรเปลี่ยนตลับแช่คอนแทคเลนส์บ่อยครั้ง ที่สำคัญคือ การตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพตาและตรวจวัดค่าสายตาหรือเลนส์ที่เหมาะสมอย่างน้อยทุก 6-12 เดือน

 

โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome) คือ การใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินความจำเป็น จะทำให้เกิดอาการทางตาต่าง ๆ ตามมาได้ สามารถพบผู้ป่วยได้มากถึงร้อยละ 70 ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานเป็นประจำและมักพบได้บ่อยขึ้นในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี

สาเหตุหลักเกิดจากแสงสะท้อนจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต รวมถึงผิวหน้าจอที่สามารถสะท้อนแสงจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ มาสู่ตา จึงทำให้ปวดตา ล้าตาได้ง่าย อีกทั้งการกระพริบตาน้อยลงขณะที่อยู่หน้าจอจะทำให้น้ำตาระเหย ตาแห้ง แสบตา แพ้แสง หรือตามัว เมื่ออาการสะสมเรื่อยๆ อาการจะหนักขึ้น และปวดบริเวณศีรษะ คอ บ่า ไหล่

สำหรับการป้องกัน สามารถทำได้โดยการกระพริบตาบ่อยขึ้นเวลาอยู่หน้าจอและควรพักสายตาเป็นระยะ ตามกฎ 20-20-20 คือ ทุก 20 นาทีให้พักสายตาอย่างน้อย 20 วินาที โดยการมองไกลๆ 20 ฟุต หรือหลับตาพักก็ได้ รวมทั้งการปรับท่าทางการทำงาน ตำแหน่งของหน้าจอ ใช้แว่นสายตาที่เหมาะสม จะช่วยลดอาการต่าง ๆ ได้มากขึ้น

นอกจากการดูแลสายตาที่กล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว ยังสามารถดูแลสายตาได้จากภายใน คือ การรับประทานวิตามินเอ ที่มีหน้าที่ช่วยในการมองเห็น การเจริญเติบโตของกระดูก การแบ่งตัวของเซลล์ การกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับ  เชื้อโรค ซ่อมแซมผิวของดวงตาและหลอดลม ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายยากขึ้น และยังกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของ

1) ผักบุ้ง เนื่องจาก ผักบุ้งจะมีวิตามินเอสูง การรับประทานผักบุ้งเป็นประจำจะลดอาการปวดดวงตา ลดอาการแสบตาที่เกิดจากการใช้ดวงตาหนักๆ ได้เป็นอย่างดีด้วย

2) ตำลึง สรรพคุณช่วยบำรุงสายตาถนอมสายตาให้มีสุขภาพดี ช่วยในการมองเห็นอีกด้วย ฟักทองมีคุณค่าทางอาหารสูง

3) เนื้อฟักทอง มีวิตามินเอสูง บำรุงดวงตา และสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์เก่าที่เสื่อมสภาพได้

ดังนั้น การที่ประชาชนคนไทยหันมาตระหนักถึงสุขภาพตา หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อดวงตา ตั้งแต่การใช้คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน นานเกิน 25-30 นาที ต้องพักสายตาอย่างน้อย 1-5 นาที ควรดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อให้ดวงตามีความชุ่มชื้น และพักผ่อนนอนหลับ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้ประสาทตาได้พักการใช้งาน เพื่อลดภาวะการเจ็บป่วยจากโรคยอดฮิตทางสายตาได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook