ทำความรู้จัก “โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา” อันตรายไม่แพ้ฉี่หนู

ทำความรู้จัก “โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา” อันตรายไม่แพ้ฉี่หนู

ทำความรู้จัก “โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา” อันตรายไม่แพ้ฉี่หนู
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีมีการส่งต่อบทความในโซเชียลมีเดีย ที่ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตลักษณะคล้ายการติดเชื้อไวรัสฮันตาในฮาวาย ซึ่งอ้างว่าผู้เสียชีวิตดังกล่าวได้ถูกส่งไปทำความสะอาดที่ห้องเก็บของที่มีซากหนูแห้งตาย จากนั้นมีอาการป่วยและเสียชีวิตในที่สุด นั้น  กรมควบคุมโรค ขอชี้แจงว่าจากการตรวจสอบแล้วพบว่าข้อความดังกล่าวถูกส่งต่อกันมาตั้งแต่ปี 2542 (ค.ศ.1999) และนำกลับมาเผยแพร่ใหม่เป็นระยะๆ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (US CDC) ยืนยันว่าไม่เคยได้รับรายงานผู้ป่วยดังกล่าว และระบุว่าข้อความที่มีการส่งต่อกันนั้น เป็นการแพร่ข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริง (eRumor) 

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสฮันตา เพื่อให้คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้และป้องกันโรคอย่างถูกวิธี ดังนี้

 

โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา คืออะไร?

โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา เป็นโรคที่ติดต่อสู่คนโดยการหายใจเอาฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนอุจจาระ ปัสสาวะ และน้ำลายของสัตว์ฟันแทะที่มีเชื้อ และจากการถูกสัตว์ฟันแทะกัดหรือรับเชื้อผ่านทางผิวหนังที่มีแผล ทางจมูกและตา รวมถึงการติดต่อจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งเชื้อไวรัสนี้สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน แต่ไม่พบว่ามีการติดต่อจากคนสู่คน

 

อาการของโรคติดเชื้อไวรัสฮันตา

อาการที่พบมีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงรุนแรง อาการรุนแรงจะเกิดที่ปอดหรือไต ในระยะแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัด (มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ) อาจมีอาการมึนงง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และในรายที่รุนแรงจะทำให้เกิดเลือดออกที่ไตหรือไตวาย อาจเกิดอาการช็อค และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

 

วิธีรักษาโรคติดเชื้อไวรัสฮันตา

ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ในการรักษาผู้ป่วยไม่มียาเฉพาะ จะใช้วิธีการรักษาตามอาการเท่านั้น

Advertisement

 

โรคติดเชื้อไวรัสฮันตาในประเทศไทย

ที่ผ่านมาประเทศไทยเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสฮันตา และเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง แม้ในประเทศไทยจะยังไม่พบชนิดก่อโรครุนแรงในคนก็ตาม

ในประเทศไทยมีการสำรวจแหล่งรังโรคในสัตว์จำพวกหนูจากสถาบันการศึกษาของประเทศไทย และมีเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการหลายแห่งที่เฝ้าระวังการเกิดโรคนี้ ถ้ามีผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสฮันตา แพทย์ก็สามารถรายงานมาที่หน่วยงานระบาดวิทยา เพื่อทำการสอบสวนหาสาเหตุของโรคต่อไป

 

โรคติดต่ออื่นๆ จากหนู

แม้ในประเทศไทยจะยังไม่พบโรคติดเชื้อไวรัสฮันตาชนิดก่อโรครุนแรงในคนก็ตาม แต่โรคดังกล่าวสามารถพบได้บ่อยในสัตว์ฟันแทะที่อาศัยในป่า โดยเฉพาะในหนูป่าหลายชนิด แต่ไม่ใช่หนูทุกชนิดที่เป็นพาหะนำโรค  ซึ่งในประเทศไทยก็มีโรคติดต่อจากหนูหลายโรค รวมทั้งโรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคไข้ฉี่หนูด้วย 

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำวิธีป้องกันทั้งโรคติดเชื้อไวรัสฮันตา และโรคฉี่หนู ดังนี้

  1. ทำความสะอาดบริเวณที่อาจเป็นที่อยู่ของสัตว์ฟันแทะ โดยใส่ถุงมือยาง ทำให้อากาศถ่ายเท ราดพื้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ไม่กวาดพื้นหรือทำให้ฝุ่นกระจาย หากจำเป็นควรสวมผ้าปิดจมูกขณะทำความสะอาด

  2. ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด ปิดช่องหรือรูในบ้านและโรงรถไม่ให้เป็นทางให้หนูเข้าได้ อาจใช้กับดักหรือเหยื่อกำจัดหนูในบริเวณบ้าน ไม่ใช้วิธีการไล่หนู ซึ่งนอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังจะทำให้หนูแพร่พันธุ์มากขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง

  3. ควรเก็บอาหาร อาหารสัตว์ในภาชนะปิด ปิดถังขยะให้มิดชิด และตัดแต่งต้นไม้รอบบ้านไม่ให้เป็นที่อยู่ของหนู

  4. ถ้ามีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบากและไอ มีปริมาณปัสสาวะผิดปกติ ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้