อ้วน-น้ำหนักเกิน-ไม่ออกกำลังกาย เสี่ยง 9 โรคมะเร็งร้าย
แม้ว่าโรคมะเร็งจะเป็นโรคร้ายที่น่ากลัว สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และยังไม่สามารถหาสาเหตุของโรคที่แน่ชัดได้ เราทำได้เพียงพยายามลดความเสี่ยงทีละอย่างสองอย่างด้วยหวังว่าจะช่วยความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งทุกชนิดไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม หากใครที่เป็นโรคอ้วน หรือแพทย์เตือนว่าอยู่ในภาวะอ้วน น้ำหนักเกินมาตรฐาน ขอให้รู้เอาไว้ว่าคุณกำลังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งให้กับตัวเองโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว
โรคมะเร็งที่เพิ่มโอกาสเสี่ยง หากเป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักเกิน
จากการศึกษาพบว่ามีการเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ในผู้หญิงที่อัตราส่วนของรอบเอว และสะโพกสูง ซึ่งพบว่าอาจจะเกี่ยวกับการไม่ได้ออกกำลังกาย สำหรับกลไกของโรคอ้วนที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้มีการตั้งสมมติฐานว่าอาจจะเกิดจากระดับของอินซูลินที่สูงไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของก้อนเนื้อ
- มะเร็งเต้านม (ในวัยหมดประจำเดือน)
ผู้หญิงอ้วนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าของหญิงที่น้ำหนักปกติ สาเหตุของการเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมว่าเกิดจากการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงอ้วนก่อนวัยหมดประจำเดือน ที่ทำให้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของก้อนเต้านมที่ตอบสนองดีกับฮอร์โมนเอสโตรเจน นอกจากนี้การพบผู้หญิงอ้วนที่เป็นมะเร็งในระยะหลังก็จะมีมากกว่าผู้หญิงปกติ เพราะการตรวจก้อนที่เต้านมทำได้ยากกว่า
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ผู้หญิงอ้วนมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเพิ่มขึ้นประมาณ 2-4 เท่า เทียบกับผู้หญิงน้ำหนักปกติ เชื่อว่าการกระตุ้นจากฮอร์โมน และระดับเอสโตรเจน และอินซูลินที่สูงอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคได้
- มะเร็งไต
บางรายงานพบว่าผู้หญิงอ้วนมี่ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งไตมากกว่าประมาณ 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับคนน้ำหนักปกติ ส่วนในผู้ชายจากผลการศึกษายังสรุปไม่แน่ชัด โดยโรคมะเร็งของไตพบประมาณ 36% ในผู้ที่น้ำหนักเกินและประมาณ 84% ในผู้ที่อ้วน กลไกของโรคอ้วนที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งที่ไตยังไม่แน่ชัด การถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจน และแอนโดนเจนอาจจะเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถอธิบายได้
- มะเร็งหลอดอาหาร
ภาวะน้ำหนักเกินและความอ้วนต่างเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งหลอดอาหารชนิด adenocarcinoma ประมาณ 2 เท่าเมื่อเทียบกับคนน้ำหนักปกติ และเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อยต่อการเกิดโรคกระเพาะอาหาร (ส่วนที่ต่อจากหลอดอาหาร) กลไกของโรคอ้วนที่ทำให้เกิดมะเร็งหลอดอาหารชนิด adenocarcinoma ยังไม่แน่ชัด เชื่อว่าภาวะกรดไหลย้อนกลับจากกระเพาะอาหารในผู้ป่วยโรคอ้วนอาจจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงได้ แต่มีบางการศึกษาพบว่าในผู้ที่ดัชนีมวลกายสูง มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเท่าๆ กันเมื่อเทียบในกลุ่มที่มี และไม่มีภาวะกรดไหลย้อน
- มะเร็งถุงน้ำดี
การเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งถุงน้ำดีสัมพันธ์กับโรคอ้วนโดยเฉพาะในผู้หญิง ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดีซึ่งพบบ่อยในคนอ้วน และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของมะเร็งถุงน้ำดี
- มะเร็งตับอ่อน
มีการศึกษาพบว่าโรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งตับอ่อน เฉพาะผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย และมีการศึกษาแบบ meta-analysis พบว่า คนอ้วนเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งตับอ่อนประมาณ 19% เมื่อเทียบกับผู้ที่น้ำหนักปกติ
- มะเร็งรังไข่
จากการศึกษาพบว่าความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้นในคนอ้วนกลุ่มวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ส่วนในผู้สูงอายุที่อ้วนไม่เพิ่มความเสี่ยง
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
มีการศึกษารายงานว่าความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นในผู้ชายที่อัตราส่วนของรอบเอวต่อสะโพกสูง จึงเชื่อว่าภาวะไขมันสะสมที่หน้าท้องสัมพันธ์กับมะเร็งต่อมลูกหมาก กลไกของโรคอ้วนที่ทำให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากเชื่อว่าเกิดจากระดับของอินซูลิน, leptin และ IGF-1 (insuline-like growth factor-1)
ลดความอ้วน = ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง?
จากการศึกษาแบบ observation พบว่าการป้องกันไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้, มะเร็งเต้านม (วัยหมดประจำเดือน), มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, มะเร็งของไต และมะเร็งหลอดอาหาร แต่ข้อมูลยังจำกัดในมะเร็งไทรอยด์และมะเร็งอื่นๆ
ออกกำลังกาย = ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง?
การออกกำลังกายเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยลดน้ำหนัก ลดความอ้วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การออกกำลังกายระดับปานกลางช่วยลดมะเร็งลำไส้ได้ประมาณ 50% เช่น การเดินเร็ว ประมาณ 3-4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และการเดินประมาณ 30 นาทีต่อวันช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านมลง 20% ส่วนในคนที่น้ำหนักปกติ ดังนั้นจากการศึกษาส่วนใหญ่ พบว่าทั้งคนอ้วนและคนที่น้ำหนักปกติ การออกกำลังกายจะช่วยป้องกันมะเร็งได้
ดังนั้นการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอยู่เสมอ จะช่วยให้ร่างกายของเราแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บได้สารพัด อย่าลืมควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอกันทุกคนด้วยนะคะ