รู้หรือไม่? เราควร “ถ่ายหนัก” วันละกี่ครั้ง ถึงเรียกว่าสุขภาพดี

รู้หรือไม่? เราควร “ถ่ายหนัก” วันละกี่ครั้ง ถึงเรียกว่าสุขภาพดี

รู้หรือไม่? เราควร “ถ่ายหนัก” วันละกี่ครั้ง ถึงเรียกว่าสุขภาพดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัญหาเรื่องของ การขับถ่าย เป็นปัญหาเล็กๆ ที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติได้ถ้าใครได้ลองสัมผัสถึงความทรมานของการไม่ได้ถ่ายเป็นเวลานาน ระหว่างถ่ายมีอาการเจ็บ แสบ บาดจนเป็นเลือด หรือถ่ายไม่ออก ที่หลายคนเรียกกันว่า ท้องผูก

สารพัดอาหาร หรือยาต่างๆ นานา ถูกนำมาใช้นำมาทานกันเพื่อให้เราได้ถ่ายคล่องสบายตัวเป็นปกติ แต่คุณเคยคิดหรือเปล่าว่า ใน 1 วัน เราควรถ่ายกี่ครั้ง ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นคนที่มีสุขภาพดี ระบบขับถ่ายปกติ

ใน 1 วัน เราควรถ่ายหนักกี่ครั้ง?

จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่พูดยากอยู่เหมือนกันว่าคนเราควรจะต้องถ่ายกี่ครั้งใน 1 วัน เพราะน่าจะมีความแตกต่างกันไปตามขนาดรูปร่าง อาหารการกิน และอายุของแต่ละคน

หากใครที่คอยสังเกตตัวเองได้ว่า ปกติแล้วจะถ่ายแค่วันละครั้ง และไม่ได้รู้สึกอึดอัดอะไร อุจจาระไม่ได้แห้ง แข็ง เหนียว หรือมีสีที่ผิดปกติ (สีเหลืองเข้มไปจนถึงน้ำตาล) ก็สันนิษฐานได้ว่า ถ่ายหนักวันละครั้งก็คงจะเพียงพอแล้วสำหรับคุณ ในทางกลับกันหากคุณรู้ตัวว่าเป็นคนทานน้อย สังเกตว่าตัวเองถ่ายแค่ 2 วันครั้ง หรือคุณเป็นคนทานอาหารในแต่ละวันมาก ถ่ายวันละ 2 ครั้ง และไม่ได้รู้สึกผิดปกติอะไรกับการถ่ายในแต่ละครั้ง ก็แสดงว่าคุณก็เหมาะกับจำนวนถ่ายเท่านั้น

ปัจจัยในการถ่ายของแต่ละคน ที่ทำให้จำนวนครั้งในการถ่ายในแต่ละวันไม่เท่ากัน

  • ปริมาณน้ำที่ดื่ม ยิ่งดื่มน้ำมาก ก็จะยิ่งถ่ายบ่อย หรือง่ายขึ้น

  • อายุที่มากขึ้น อาจทำให้การขับถ่ายทำได้ยากขึ้น

  • กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน หากคุณลุกเหินเดินวิ่งอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงออกกำลังกายเป็นประจำ (คาร์ดิโอ) จะช่วยให้ขับถ่ายได้ง่าย หรือบ่อยครั้งกว่าคนที่ไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไร อยู่นิ่งๆ หรือไม่ออกกำลังกาย

  • อาหารที่ทาน คนที่ทานผักน้อย กากใยอาหารน้อย ก็จะมีโอกาสขับถ่ายได้น้อยครั้ง หรือขับถ่ายยากกว่าคนที่ทานผักผลไม้เป็นประจำ และคนที่ทานอาหารจำพวกแป้ง คาร์โบไฮเดรตในปริมาณมากเป็นประจำ ก็อาจขับถ่ายได้ยาก หรือน้อยครั้งกว่าคนที่ทานแป้งน้อยกว่า

  • ประวัติการรักษาโรค อาจมีผู้ป่วยบางโรคที่ได้รับผลกระทบทำให้ระบบการขับถ่ายทำงานได้ด้อยประสิทธิภาพลง เช่น โรคโครห์น ที่เป็นความผิดปกติเรื้อรังของลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดการระคายเคือง และทางเดินอาหารบวม โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล หรือไวรัสลงกระเพาะ ท้องเดินจากไวรัส เป็นต้น

  • ปริมาณของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และ เอสโตรเจนในร่างกายของผู้หญิง ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบขับถ่ายได้เช่นกัน เพราะพบว่าผู้หญิงบางคนจะถ่ายบ่อยกว่าปกติเมื่อเข้าใกล้ช่วงที่กำลังจะมีประจำเดือน เป็นต้น

  • วิถีชีวิตของแต่ละคน บางคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในชั่วโมงเร่งรีบ อบู่บนถนนที่รถติด ต้องอยู่ที่ๆ จำกัดเป็นเวลานาน หรือไม่ชอบการขับถ่ายนอกบ้าน อาจมีพฤติกรรม “กลั้น” ไว้ก่อน ส่งผลให้จำนวนครั้งที่ถ่ายในแต่ละวันเปลี่ยนแปลง และมีปัญหาท้องผูกในภายหลังได้เช่นกัน

 poop-2iStock

จำนวนการถ่ายหนัก สำคัญไฉน?

สิ่งสำคัญที่สุด คือการสังเกตตัวเอง จดจำพฤติกรรมในการถ่ายของตัวเองเอาไว้บ้างว่า วันนี้เราถ่ายหรือยัง เมื่อวานเราได้ถ่ายหรือเปล่า ปกติเราต้องถ่ายวันละครั้ง วันละ 2 ครั้ง หรือ 2 วันครั้ง แล้วช่วงนี้การขับถ่ายของเราเป็นไปอย่างปกติหรือไม่ ถ้าพบว่าจำนวนครั้งในการถ่ายของเราไม่เหมือนเดิม ก็ควรทานอาหารที่มีปริมาณของน้ำ และกากใยอาหาร เช่น ผักผลไม้ และธัญพืชเพิ่มมากขึ้น เพื่อควบคุมการทำงานของระบบขับถ่ายของตัวเองให้เป็นปกติอยู่เสมอ เป็นการช่วยหลีกเลี่ยงโรคที่ทรมานอย่าง โรคริดสีดวงทวาร โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ เลยไปจนถึงมะเร็งทวารหนักได้

จากการสำรวจของมหาวิทยาลัย Scandinavian Journal of Gastroenterology พบว่า คนส่วนใหญ่จะขับถ่ายราว 3 ครั้งต่อวัน จนถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ (หรือราวๆ 2 วันครั้ง) หากถ่ายมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจมองว่าผิดปกติได้

ถ่ายหนักแบบไหน ถึงเรียกว่า “ปกติ”

นอกจากจำนวนครั้งที่ถ่ายที่เราต้องสังเกตเองแล้ว เราควรสังเกตลักษณะของอุจจาระทุกครั้งที่เราถ่ายด้วย หากมีลักษณะนุ่ม ถ่ายง่าย ไม่เจ็บ ไม่แสบ ไม่ทรมาน หรือไม่ต้องเสียเวลาเบ่งมาก รวมไปถึงกลิ่นที่ไม่เหม็นจัด ไม่มีมูกเลือด หรือเลือดสดๆ ปน และมีสีเหลืองไปจนถึงน้ำตาล แปลว่าเป็นการถ่ายที่ปกติ

การถ่ายหนักที่ไม่ปกติ

คือการถ่ายเป็นน้ำ ไม่มีกากใยอาหาร หรือมีจำนวนน้อย ปวดท้องแบบบิดๆ หรือมวนท้อง มีอาการแสบ อุจจาระเป็นสีเข้มจัด หรืออ่อนจัด มีกลิ่นเหม็นมาก มีมูกเลือด หรือเลือดสดๆ ปน หรือถ่ายบ่อยมากกว่า 4 ครั้งใน 1 วัน นอกจากนี้อุจจาระที่มีลักษณะเหมือนก้อนหินเล็กๆ หลายๆ ก้อน มีลักษณะแข็งกว่าปกติ ก็ถือว่าเป็นลักษณะของอุจจาระที่ไม่ปกติเช่นกัน อาจเกิดจากการดื่มน้ำน้อย และเป็นการขับถ่ายที่อาจส่งสัญญาณว่าลำไส้ใหญ่ขับถ่ายเอาอุจจาระออกมาไม่หมด อาจมีตกค้างอยู่บางส่วน

อุจจาระแบบไหน ควรรีบไปหาหมอ

แม้ว่าลักษณะของอุจจาระบางอย่างจะเรียกว่าไม่ปกติ แต่ก็ไม่ใช่ทุกรายที่อันตรายจนถึงขั้นต้องพบแพทย์ เพราะหากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทานอาหาร ก็อาจจะช่วยให้อุจจาระกลับมาปกติเหมือนเดิมได้ แต่หากพบว่ามีอุจจาระในลักษณะนี้ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วย เพราะระบบขับถ่าย หรืออวัยวะที่เกี่ยวข้อง อาจกำลังมีปัญหา

  • อุจจาระปนเลือด
  • อุจจาระมีสีดำ
  • อุจจาระเรียวเล็กเป็นแท่งเหมือนปากกา ดินสอ
  • ท้องเสีย ท้องร่วง พร้อมมีไข้ และน้ำหนักลดมาก
  • ปวดท้องขณะถ่ายมาก
  • อาเจียนเป็นเลือด หรือเป็นของเหลวคล้ายกาแฟบด

หากอยากให้การขับถ่ายเป็นปกติ ควรดื่มน้ำให้มากขึ้น ทานผักผลไม้ให้มากขึ้น จะช่วยให้อุจจาระมีลักษณะอ่อนนุ่ม ขับถ่ายได้ง่าย และออกกำลังกายจำพวกคาร์ดิโอ เช่น วิ่ง แอโรบิค ปั่นจักรยาน อยู่เป็นประจำ ก็จะช่วยเร่งการทำงานของลำไส้ใหญ่ ให้ช่วยลำเลียงอุจจาระออกมาผ่านทวารหนักได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook