พร้อมรับมือหรือยัง? 7 โรคที่เด็กๆ มักป่วยในหน้าหนาว
“ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ยังคงเป็นประโยคอมตะที่ใช้ได้เสมอมา เพราะไม่มีใครที่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง
ยิ่งปีนี้ ฤดูหนาวในบ้านเราคาดว่าจะยาวนานไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ก็ยิ่งต้องดูแลลูกหลานกันเป็นพิเศษ วันนี้ Tonkit360 มีวิธีรับมือกับ 7 โรคสุดฮิตที่มักจะพบในเด็ก ช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็นแบบนี้มาฝากกัน
1.โรคไข้หวัด
อาการ : คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม คันคอ
วิธีป้องกัน : หมั่นล้างมือให้สะอาด ดื่มน้ำอุ่น นอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีคุณค่า ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกาย
2.โรคไข้หวัดใหญ่
อาการ : ไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามร่างกายมาก อาจมีคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
วิธีป้องกัน : ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะ เด็ก และผู้สูงอายุ ควรฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี
3.โรคปอดบวม
อาการ : มีไข้ ไอ เสมหะมาก แน่นหน้าอกเหมือนหายใจไม่ออก หอบ หายใจเร็ว มักพบหลังจากเป็นไข้หวัดเรื้อรังหรือรุนแรง หรือเป็นโรคหลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคหอบหืด
วิธีป้องกัน : ทำร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำอุ่น อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเข้าไป หมั่นล้างมือให้สะอาด
4.โรคหัด
อาการ : คล้ายไข้หวัดธรรมดา คือมีไข้ก่อนน้ำมูกไหล มักจะไอแห้งๆ ตลอดเวลา ซึ่งอาการจะปรากฏชัดเมื่อมีอาการเพิ่มขึ้น เช่น มีไข้สูง ตาแดงแฉะ เมื่อโดนแสงจะมีอาการแสบตา ระคายเคืองตา ไอและมีน้ำมูกมาก ปากและจมูกแดง หลังมีไข้ 3-4 วัน จะเริ่มมีผื่นจากหลังหู ลามไปยังหน้าและร่างกาย
วิธีป้องกัน : ฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นวัคซีนรวม ทั้งหัด หัดเยอรมัน และคางทูม โดยควรฉีดวัคซีนตามช่วงอายุที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือ อายุ 9-12 เดือน ก่อนฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 6 ขวบ
5.โรคหัดเยอรมัน
อาการ : มีไข้ต่ำๆ ถึงปานกลาง ร่วมกับเป็นผื่นเล็กๆ สีชมพูอ่อนๆ กระจายไปทั่ว ผื่นมักจะแยกกันอยู่ชัดเจน โดยจะเริ่มที่หน้าผากชายผม รอบปาก และใบหูก่อนที่อื่น และลงมาที่ลำคอ ลำตัว แขนขา และอาจมีอาการคันร่วมด้วย
วิธีป้องกัน : ฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นวัคซีนรวม ทั้งหัด หัดเยอรมัน และคางทูม โดยควรฉีดวัคซีนตามช่วงอายุที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือ อายุ 9-12 เดือน ก่อนฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 6 ขวบ
6.โรคสุกใส
อาการ : มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหารเล็กน้อย ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง และปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดนำมาก่อน และมีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ จากนั้นจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใสๆ อยู่ข้างใน และมีอาการคัน ก่อนจะกลายเป็นหนอง หลังจากนั้น 2-4 จะตกสะเก็ด ซึ่งผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วค่อยลามไปตามใบหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง
วิธีป้องกัน : ฉีดวัคซีนป้องกัน หรือเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยเพราะติดต่อได้ค่อนข้างง่าย แต่ถ้าเคยป่วยเป็นโรคนี้มาแล้วจะมีภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต
7.โรคอุจจาระร่วง (ท้องร่วง)
อาการ : ถ่ายเป็นน้ำร่วมกับมีอาการไข้ และอาเจียน ในเด็กมักจะมีอาการก้นแดง ซึ่งถือเป็นอาการสำคัญของโรคนี้ โดยอาการถ่ายเป็นน้ำจะหายได้เองภายใน 3-4 วัน ส่วนอาการไข้และอาเจียนมักมีอาการในช่วง 2-3 วันแรกเท่านั้น
วิธีป้องกัน : ให้ความสำคัญเรื่องสุขอนามัย ทั้งเรื่องอาหารและน้ำดื่ม ล้างมือให้สะอาดหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก ทำความสะอาดเครื่องใช้ ของเล่น และภาชนะทุกชิ้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปอยู่ในสถานที่แออัดด้วย