รู้หรือไม่? ผู้หญิงเราอยู่เฉยๆ ไข่ก็ฝ่อได้ อาจเสี่ยงมีบุตรยาก

รู้หรือไม่? ผู้หญิงเราอยู่เฉยๆ ไข่ก็ฝ่อได้ อาจเสี่ยงมีบุตรยาก

รู้หรือไม่? ผู้หญิงเราอยู่เฉยๆ ไข่ก็ฝ่อได้ อาจเสี่ยงมีบุตรยาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้หรือไม่ว่า...

  • ผู้หญิงเราแค่อยู่เฉยๆ ไข่ก็ฝ่อแล้ว ตั้งแต่แรกเกิด ผู้หญิงจะมีไข่ในรังไข่ประมาณ 1-2 ล้านฟอง พอเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ไข่ก็เหลือเพียง สามถึงสี่แสนฟอง ปริมาณจะลดลงเรื่อยๆตามอายุที่มากขึ้น ที่สำคัญ ไม่สามารถเพิ่มจำนวนหรือสร้างขึ้นใหม่ แตกต่างจากน้ำเชื้อของผู้ชายที่สร้างใหม่ได้เรื่อยๆ  

  • ในแต่ละเดือน จะมีไข่ประมาณ 5-10 ใบ ที่พร้อมจะโตและตกเพื่อปฏิสนธิกับสเปิร์ม ซึ่งโดยธรรมชาติจะคัดสรรให้เหลือเพียง 1 ฟองเท่านั้นที่โตและตกไปรอการปฏิสนธิ ที่เหลือจะฝ่อและสลายไป

  • เมื่ออายุมากขึ้น ไข่ในรังไข่ของผู้หญิงจะลดลงเรื่อยๆ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ทำให้โอกาสในการมีลูกลดลงไปด้วยเช่นกัน ในขณะที่ ผู้ชายสามารถมีลูกแม้จะอายุเกิน 90 ปี ก็ตาม

 

อายุขนาดนี้ ไข่ยังมีอยู่ไหม?” 

นี่คือคำถามสำคัญของคู่สมรส ที่เริ่มเข้าสู่โหมดการวางแผนครอบครัวในช่วงอายุที่สูงขึ้น เพราะตามหลักของการเจริญพันธุ์แล้ว เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ไข่ในรังไข่ของผู้หญิงสำหรับการตั้งครรภ์ก็จะลดลงเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ และจะหมดไปในช่วง 5 ปีก่อนเข้าสู่วัยทอง

จากข้อมูลเชิงสถิติจะพบว่า ประชากรทั่วโลกประมาณ 50-80 ล้านคนกำลังประสบปัญหาด้านการมีบุตร ยิ่งไปกว่านั้น 1 ใน 4 ของคู่สามีภรรยาในประเทศกำลังพัฒนา ประสบกับปัญหาด้านการมีบุตร ทั้งนี้ เป็นผลพวงมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ผู้หญิงส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะแต่งงาน และมีลูกในช่วงอายุที่มากขึ้น ซึ่งสวนทางกับอายุที่เหมาะสมสำหรับการมีบุตรที่อยู่ระหว่าง 20-35 ปี

แน่นอนว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปัจจุบันนี้ ยังไม่มีวิธีที่จะเอาชนะกฎของธรรมชาติด้วยการเพิ่มปริมาณหรือหยุดยั้งการลดปริมาณของไข่ในรังไข่ของผู้หญิงได้ ทำให้ผู้หญิงวางแผนจะมีลูกเมื่ออายุมากประสบปัญหามีบุตรยาก และต้องหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือ การผสมเทียม เพื่อแก้ไขปัญหาการมีบุตรยาก

อย่างไรก็ตาม สำหรับการใช้เทคโนโลยีการผสมเทียม ไม่ว่าจะเป็นการทำเด็กหลอดแก้ว (In-vitro fertilisation) ที่เรียกสั้นๆ ว่า IVF หรือการทำอิ๊กซี- ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้มากขึ้น  เบื้องต้นต้องอาศัยวิธีการกระตุ้นไข่

คำถามต่อมาก็คือ แล้วแพทย์และผู้หญิงที่มีบุตรยากจะทราบได้อย่างไรว่า ร่างกายเหลือปริมาณไข่อยู่มากน้อยเพียงใด และมีการตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่ดีหรือไม่   

นั่นจึงเป็นที่มาของการคิดค้นหาวิธีที่จะช่วยให้คู่สามีภรรยาสามารถสามารถวางแผนการตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสม ผ่านการตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนแอนตี้มูลเลอเรียน (Anti- Müllerian Hormone) หรือ AMH ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากฟองไข่ในรังไข่ ปริมาณของฮอร์โมนจึงสัมพันธ์กับปริมาณไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่ของผู้หญิง จัดเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับใช้เป็นแนวทางในการวางแผนสำหรับการมีบุตร โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก

 

ผศ. พญ. พรทิพย์ สิรยาภิวัฒน์ สูตินรีแพทย์และแพทย์ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า “การตรวจฮอร์โมน AMH สามารถช่วยให้แพทย์ประเมินว่าจะมีโอกาสได้ไข่จากกระตุ้นมากหรือน้อยเพียงใด เพื่อใช้ในการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ อาทิ การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย สำหรับผู้หญิงที่กังวลว่าจะแต่งงานช้า หรือแต่งงานแล้วจะมีลูกยาก รวมถึงผู้มีภาวะมีบุตรยากที่อายุยังน้อย และประสบปัญหากระตุ้นไข่ไม่สำเร็จ”

สอดคล้องกับมุมมองของ แพทย์หญิงเกียง ฮุน นู ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน IVF จากโรงพยาบาลมี ดุ๊ก เจเนอรัล ประเทศเวียดนาม ซึ่งกล่าวไว้ว่า “โดยปกติ ผู้หญิงจะมีไข่ประมาณ 2 ล้านฟองในรังไข่ ซึ่งถือเป็นจำนวนไข่ทั้งหมดในชีวิตของผู้หญิง เมื่ออายุเพิ่มขึ้น จำนวนไข่ที่เหมาะสำหรับการตั้งครรภ์จะลดลงเรื่อยๆ การตรวจฮอร์โมน AMH จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้แพทย์ประเมินได้ว่า ผู้หญิงคนนั้นมีโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากน้อยเพียงใด และสามารถให้คำปรึกษากับผู้หญิงและคู่สามีภรรยาที่กำลังวางแผนครอบครัวได้ดีขึ้น เพื่อวางแผนเกี่ยวกับเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์โดยวิธีธรรมชาติ หรือควรพิจารณารับการรักษาเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์”

 

ข้อดีของการตรวจฮอร์โมน AMH ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ได้แก่ การตรวจทำได้ง่ายดายและสะดวกด้วยการเจาะเลือด โดยไม่ต้องงดน้ำและอาหารล่วงหน้า และสามารถตรวจวันไหนก็ได้โดยไม่ต้องรอช่วงเวลาให้มีรอบเดือนแบบการตรวจสมัยก่อน เนื่องจากฮอร์โมน AMH ไม่ได้สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน แถมยังทราบผลในระยะเวลาอันรวดเร็ว (ขึ้นอยู่กับกระบวนการของแต่ละโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ตรวจ)

การตรวจฮอร์โมน AMH ช่วยขจัดความเขินอายในการตรวจ จากเดิมการที่ผู้หญิงจะตรวจเช็คไข่ในรังไข่จำเป็นต้องได้รับการตรวจแบบอัลตราซาวน์ผ่านทางช่องคลอด ซึ่งสำหรับบางคนแล้วจะรู้สึกกังวลเพราะเขินอายแพทย์ผู้ตรวจ    การตรวจฮอร์โมน AMH โดยใช้เครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ จึงลดความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานของมนุษย์ หรือ human error ซึ่งอาจจะถูกปัจจัยต่างๆ ภายนอกมาทำให้การวิเคราะห์ หรือวินิจฉัยในแต่ละครั้งมีความคลาดเคลื่อนได้

 

ปัจจุบันการตรวจฮอร์โมน AMH เพื่อคาดการณ์ปริมาณไข่ที่เหลือในรังไข่ รวมถึงการตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่ ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินสภาวะการเจริญพันธุ์ของผู้มีบุตรยาก และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนแนวทางการรักษาภาวะการมีบุตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการเลือกใช้ปริมาณยาสำหรับการกระตุ้นไข่ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ปริมาณยาที่มากหรือน้อยเกินไปในแต่ละเคสของการรักษา

การวางแผนการตั้งครรภ์และการวางแผนครอบครัวอาจเป็นช่วงเวลาที่อ่อนไหว และกระทบจิตใจของคู่สามีภรรยาเป็นอย่างมาก การตรวจฮอร์โมน AMH สามารถช่วยให้คำตอบกับผู้หญิงที่ต้องการรู้ถึงภาวะเจริญพันธุ์ของตนเอง และเราหวังว่าการตรวจฮอร์โมน AMH นี้ จะช่วยให้คำแนะนำ ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง โดยมีข้อมูลครบถ้วนและเลือกวางแผนครอบครัวอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่นๆ การตรวจฮอร์โมน AMH คือตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเรามุ่งเน้นที่จะพัฒนาการตรวจวินิจฉัยในด้านสุขภาพของสตรี เพื่อมอบคุณค่าทางการแพทย์ให้กับแพทย์และผู้ป่วยอย่างสูงสุดต่อไป

โดยสรุป:

  • ปัจจุบัน ผู้หญิงสามารถทราบถึงปริมาณไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่ได้ว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด โดยไม่ต้องตรวจภายใน ไม่ต้องเขินอาย และยุ่งยาก ให้ผลการตรวจที่รวดเร็วและแม่นยำ ด้วยการตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนแอนตี้มูลเลอเรียน (Anti- Müllerian Hormone) หรือ AMH

  • มารู้จัก AMH กันสักนิด........ AMH หรือฮอร์โมนแอนตี้มูลเลอเรียน เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากฟองไข่ในรังไข่ ปริมาณของฮอร์โมนจึงสัมพันธ์กับปริมาณไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่ของผู้หญิง ทำให้สามารถคาดการณ์ปริมาณไข่ที่เหลือในรังไข่ของผู้หญิงได้อย่างแม่นยำ

  • การตรวจฮอร์โมน AMH ใช้การตรวจเลือด โดยไม่ต้องงดอาหารและอาหารล่วงหน้า สามารถตรวจวันใดก็ได้ เพราะฮอร์โมน AMH ไม่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน จึงตรวจเมื่อใดก็ได้

  • การตรวจวัดฮอร์โมน AMH ก่อนการทำ IVF จะช่วยบอกได้ว่าผู้หญิงท่านนั้นมีจำนวนไข่เหลือประมาณเท่าใด และจะตอบสนองต่อการทำ IVF ได้ดีเพียงใด

  • เด็กคนแรกที่เกิดจากการทำ IVF ถือกำเนิดในปี ค.ศ. 1978 และหลังจากนั้นมา มีเด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีนี้มากถึง 4 ล้านคนทั่วโลก

ผู้ที่สนใจสามารถขอคำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจฮอร์โมน AMH ได้จากโรงพยาบาลชั้นนำ  และศูนย์รักษาผู้มีปัญหาด้านการมีบุตรมากกว่า 60 แห่งในประเทศไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook