เปิดข้อมูล ! บริโภค "ตะไคร้" ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้จริงหรือ?

เปิดข้อมูล ! บริโภค "ตะไคร้" ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้จริงหรือ?

เปิดข้อมูล ! บริโภค "ตะไคร้" ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้จริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนทั่วไปอาจรู้จัก "ตะไคร้" ในฐานะของพืชผักที่นำมาใช้ปรุงอาหาร ถึงแม้จะไม่ใช่ชนิดของผักที่สามารถรับประทานได้เปล่าๆ แต่ตะไคร้ก็มีส่วนช่วยในการดับกลิ่นคาวจากเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารประเภทต่างๆ รู้หรือไม่ว่า นอกจากคุณประโยชน์ที่กล่าวมา "ตะไคร้" ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพของเราในหลากหลายมิติด้วย แต่ในที่นี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องบริโภคด้วยการรับประทานเข้าไปเพียงอย่างเดียว

ทำความรู้จักกับ "ตะไคร้"

ตะไคร้ เป็นพืชสมุนไพรในแถบเอเชียเขตร้อน มีลักษณะคล้ายกับหญ้า มีใบสูงยาว อีกทั้งยังมีกลิ่นเฉพาะตัว นอกจากการนำมาใช้ประกอบอาหาร ปรุงแต่งกลิ่น รวมถึงนำมาใช้ทำเป็นเครื่องดื่มได้แล้ว ตะไครก็ยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ในสาขาต่างๆ อาทิ ใช้เป็นส่วนผสมในสบู่ เครื่องสำอาง ใช้เพื่อการบำบัดรักษา หรือแม้แต่นำไปสกัดเป็นยารักษา ซึ่งเชื่อกันว่า สารที่อยู่ในตะไคร้มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเติบโตของแบคทีเรียและยีสต์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยลดอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวด ลดไข้ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้กับคุณผู้หญิงในระหว่างที่มีประจำเดือน และที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป คือ การนำตะไคร้มาเป็นส่วนผสมในสารที่ช่วยไล่ยุงได้

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสรรพคุณของ "ตะไคร้"

อย่างที่เราเห็นกันอยู่ว่าถึงแม้ ตะไคร้ จะเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยม สามารถนำมาบริโภค และประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ อย่างแพร่หลาย แต่จากการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ พบว่าประสิทธิผลจากการใช้ตะไคร้ยังมีอยู่จำกัด อีกทั้งยังไม่ได้รับการรับรองในเชิงการแพทย์อย่างเป็นทางการ

สรรพคุณที่สำคัญของ "ตะไคร้"

ในงานวิจัยบางงานได้ตั้งสมมติฐานไว้ให้กับ ตะไคร้ ว่าเป็นพืชสมุนไพรที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายได้หลากหลายด้าน ดังนี้

  • ระงับกลิ่นปากที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

  • ยับยั้งเชื้อราในช่องปาก

  • ช่วยกำจัดรังแคบนหนังศีรษะ

  • ช่วยป้องกันยุงและตัวริ้น

  • ช่วยรักษาโรคเกลื้อน

จริงหรือไม่ที่ "ตะไคร้" ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ?

ถึงแม้จะเกิดทดลองอย่างมากมายว่า ตะไคร้ ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพของร่างกายในด้านใดบ้าง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทั้งในทางวิทยาศาสตร์ และทางการแพทย์อย่างเพียงพอที่จะช่วยยืนยันประสิทธิภาพในการรักษาอาการต่างๆ ด้วยตะไคร้ได้ ฉะนั้น การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพืชสมุนไพรตัวนี้ก็จะยังคงดำเนินต่อไปบนพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนมากขึ้น และมีความหลากหลายของประชากรในทุกวันนี้ หากตัดสินใจที่จะใช้การรักษา หรือบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยตะไคร้ ผู้บริโภคควรใส่ใจในขั้นตอนและปริมาณการใช้งานที่พอเหมาะ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

ความปลอดภัยเมื่อใช้ "ตะไคร้"

สำหรับคนทั่วไป

  • การบริโภคตะไคร้ในปริมาณที่เท่ากับการนำมาใช้ประกอบอาหารทั่วไปก็อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย

  • การนำตะไคร้มาใช้ทาบนผิวหนังเพื่อจุดประสงค์ทางการรักษาจะปลอดภัย หากใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ โดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำจากแพทย์

  • การสูดดมสารที่มีส่วนประกอบของตะไคร้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย และอาจก่อให้เกิดพิษในร่างกายในผู้ป่วยบางรายได้ อาทิ ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของปอด

  • การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม หรือสารสกัดจากตะไคร้ด้วยความประมาท หรือใช้ผิดวิธี อาจนำไปสู่ภาวะที่ทำให้เกิดพิษจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาทิ การกลืนยากันยุงที่ผลิตจากตะไคร้

สำหรับผู้ที่มีปัจจัยทางสุขภาพ

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ : แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงการบริโภคตะไคร้ เนื่องจากตะไคร้อาจกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือดในช่วงที่เกิดประจำเดือน จึงเสี่ยงต่อการทำให้แท้งได้

  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตร : ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนในเรื่องความปลอดภัยจากการบริโภคตะไคร้ในระหว่างการให้นมบุตร ผู้ที่กำลังให้นมบุตรจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคตะไคร้ เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของตนเอง และทารกที่อาจได้รับสารต่างๆ ผ่านทางน้ำนมได้อีกด้วย

  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว : แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มการบริโภคตะไคร้ หรืออาหารใดๆ ก็ตามเสมอ ว่ามีความเสี่ยง หรือส่งผลที่ไม่ดีต่ออาการป่วยของตนหรือไม่

"ตะไคร้" อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต

ไต นับว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญอวัยวะหนึ่งภายในร่างกาย มีลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วแดง มีอยู่ด้วยกันสองข้าง คอยทำหน้าที่กรองเลือดและของเสียออกจากร่างกายในรูปของเหลว ซึ่งนั่นก็คือปัสสาวะนั่นเอง อีกทั้งการทำงานของไตยังช่วยปรับสมดุลแร่ธาตุต่างๆ ภายในร่างกายด้วย

มีงานทดลองอยู่งานหนึ่งที่ถูกออกแบบขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษเพื่อทดสอบหาประสิทธิภาพของ ตะไคร้ ต่อการทำงานของไต โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายจำนวน 55 คน และเพศหญิจำนวน 50 คน มีวิธีการทดสอบ คือ ให้กลุ่มตัวอย่างทดลองดื่มชาที่ทำจากใบตะไคร้เป็นเวลา 30 วัน จากนั้นก็ตรวจวัดด้วยการประเมินอัตราการกรองของเสียและอัตราการกำจัดของเสียออกจากไต ซึ่งผลการทดลองพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีผลการประเมินการทำงานของไตในด้านการกรองและการกำจัดของเสียลดลง ทำให้เห็นว่าตะไคร้นั้นทำให้ระบบการทำงานของไตแย่ลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณสารสกัดที่ไส่ในชา รวมถึงระยะเวลาของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับสารด้วย

ผลการทดลองดังกล่าวนับว่าเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไต อย่างไรก็ตาม คำตอบของการทดลองยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างละเอียดและแน่ชัด ผู้บริโภคอย่างเราจึงต้องรอให้มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประสิทธิภาพของตะไคร้ในด้านดังกล่าวเพิ่มเติม หากมีความจำเป็นต้องบริโภค ก็ขอให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ

บริโภค "ตะไคร้" อย่างไรถึงจะพอเหมาะ

ในทุกวันนี้ก็ยังคงไม่มีข้อมูลที่ยืนยันอย่างแน่ชัดว่าเราควรบริโภคตะไคร้เท่าไหร่จึงจะเป็นปริมาณที่เหมาะสม เพราะถึงแม้ว่า ตะไคร้ จะเป็นพืชสมุนไพรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบริโภคแล้วจะช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพ หรือมีความปลอดภัยเสมอไป ฉะนั้น ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวัง โดยอาจปฏิบัติตามข้อมูลต่อไปนี้

  • บริโภคตะไคร้ในปริมาณ และวิธีการที่เหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ตัวของเราเองนั้นเป็นอยู่ อาทิ อายุ สภาพร่างกาย และปัญหาสุขภาพ

  • ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร และศึกษาข้อมูลบนฉลากก่อนเริ่มบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของตะไคร้ให้ถี่ถ้วน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพภายหลังการบริโภค

ความปลอดภัยย่อมเกิดขึ้นจากการที่ตัวเราเองไม่ประมาท การใช้สมุนไพร หรือตัวช่วยอื่นๆ มาช่วยบำรุงรักษาสุขภาพย่อมต้องมีทั้งข้อดี และข้อเสียปะปนอยู่คู่กัน ยิ่ง "ตะไคร้" เป็นพืชสมุนไพรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เรายิ่งควบคุมไม่ได้ว่าสรรพคุณในตัวที่มีจะช่วยส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพร่างกายของเรา ฉะนั้น จึงต้องหมั่นดูแลตนเอง ออกกำลังกาย และบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่กันไปด้วย แล้วให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนผสมจากตะไคร้ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยเสริมเท่านั้นก็น่าจะเพียงพอ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook